วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

คติธรรม

"อันว่าทรัพย์สิน เงินทองเมื่อมีมากจงทำบุญทำทานออกไปจึงจะเป็นสุข ความรักนั้นต้องรู้จักการเสียสละและการให้ค่อยมีความสุข ส่วนเกียรติยศชื่อเสียงจงนำมาใช้เพื่ออำนวยประโยชน์สุขให้ส่วนรวม เช่นนี้จึงเป็นความสุขโดยแท้"

.........................................................................................................................................................................

ธรรมแท้ ๆ ! เป็นกลาง ๆ ..
ใคร ? ปล่อยวางได้..ก็.."สบาย"
ธรรมแท้ ๆ ! ไม่มี..สู้!..ไม่มี..หนี!
เพียงแต่..ดู-รู้-ตรง "ปัจจุบัน" นี้
แล้วก็..ปล่อยไป..เท่านั้นเอง!
น้ำไม่ไหล! ขังไว้..ย่อม..เน่า ฉันใด!
จิตที่..รู้เรื่องอะไร ? แล้วไม่ยอมปล่อย
ย่อม "ทุกข์" ฉันนั้น..

.........................................................................................................................................................................

"การละบาป เป็นสิ่งสำคัญมากกว่าการทำบุญ ถ้าทำบาปแลกบุญจะขาดทุนเรื่อยไป"

.........................................................................................................................................................................

คนส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาเรื่องการได้ยิน...แต่มักมีปัญหาการฟังให้เข้าใจ
คนส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาเรื่องการเรียน...แต่มักมีปัญหาเรื่องการรู้ให้จริง
คนส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาเรื่องการเปล่งเสียง...แต่มักมีปัญหาเรื่องการพูดให้เข้าหูคน

.........................................................................................................................................................................

"ความสุข...อาจทำให้ลุ่มหลง
ความทุกข์...ทำให้รู้จักชีวิต
จึงควรขอบคุณความทุกข์บ้าง"

.........................................................................................................................................................................

"เพียงคิดช่วยเขา...ใจเราก็สุขแล้ว
เพียงคิดเบียดเบียนเขา...ใจเราก็ทุกข์แล้ว"

.........................................................................................................................................................................

"น้ำทำให้เรือลอยได้ ก็ทำให้เรือล่มได้
ทรัพย์สินเงินทอง
ทำให้คนเป็นสุขได้ ทำให้คนเป็นทุกข์ได้"

.........................................................................................................................................................................

"การมองข้ามงานเล็กไป
จะทำให้งานใหญ่ไม่สำเร็จ"

......................................................................................................................................................................... 

"เพ่งโทษตน...เป็นบัณฑิต
เพ่งความผิดคนอื่น...เป็นพาล"

......................................................................................................................................................................... 

"ก้าวแรก ก้าวต่อๆไป
และก้าวสุดท้ายสำคัญพอๆกัน
ขาดก้าวใดก้าวหนึ่ง ชีวิตจะถึงที่หมายไม่ได้"

......................................................................................................................................................................... 

"คลื่นลมทำให้ทะเลสวย
อุปสรรคทำให้ชีวิตงาม
บุคคลจึงไม่ควรยอมแพ้เมื่อพบอุปสรรค"

......................................................................................................................................................................... 

"หากครั้งนี้ล้มเหลว
ครั้งต่อๆไปต้องสำเร็จ
เพราะความสำเร็จ
มักมาหลังจากความล้มเหลวเสมอ"

......................................................................................................................................................................... 

"ความวิตกกังวลใจเป็นโรคร้ายของชีวิต
ถ้าปล่อยก็ว่าง ถ้าวางก็จะเบา ถ้าเอาก็จะหนัก
ความยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นอุบายสร้างสันติ"

.........................................................................................................................................................................

สิ่งที่เราให้คนอื่น แท้จริงแล้วคือของที่เราฝากให้แก่ตนเองในวันข้างหน้า เช่น วันนี้เราด่าเขา วันข้างหน้าเราจะถูกเขาด่า วันนี้เราโกงเขา วันข้างหน้าเราจะถูกเขาโกง วันนี้เราเนรคุณเขา วันข้างหน้าเราจะถูกเขาเนรคุณ

......................................................................................................................................................................... 

“ดีหรือชั่วมันอยู่ที่การควบคุมกำลังใจ
ถ้าใจของเราบริสุทธิ์ผุดผ่องเสียอย่างเดียว
ใครจะว่าดีหรือชั่วไม่มีความสำคัญ
เขาจะประณามว่าเลว มันก็เลวไม่ได้
มันก็ต้องดีอยู่ตลอดเวลา
ถ้าจิตของเราชั่ว เขาจะสรรเสริญว่าดี
มันก็ดีไม่ได้เหมือนกัน นี่เป็นอันว่า
พระพุทธเจ้าทรงให้รักษากำลังใจเป็นสำคัญ
ควบคุมกำลังใจให้ดีไว้ แล้วมันดีเอง
ไม่ต้องไปฟังคำชาวบ้านเขา
การที่เราดี เพราะรอให้ชาวบ้านสรรเสริญ
นั่นมันเป็นอารมณ์ของความชั่ว”

พระมหาวีระ ถาวโร (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ) 

......................................................................................................................................................................... 

ได้อะไรก็ไม่เท่า ได้คิด
เสียอะไรก็ไม่เท่า เสียสามัญสำนึก (ไม่รู้ดีรู้ชั่ว)

มีอะไรก็ไม่เท่า มีบุญ
รู้อะไรก็ไม่เท่า รู้สึกตัว (mindfulness)

เจ็บอะไรก็ไม่เท่า เจ็บใจ
หนาอะไรก็ไม่เท่า หนาทิฐิ

กลัวอะไรก็ไม่เท่า กลัวใจตัวเอง
สูงอะไรก็ไม่เท่า ใจสูง

ร้อนอะไรก็ไม่เท่า ร้อนเสน่หา
กินอะไรก็ไม่เท่า กินสินบน

จนอะไรก็ไม่เท่า จนปัญญา
บ้าอะไรก็ไม่เท่า บ้าอำนาจ

ติดอะไรก็ไม่เท่า ติดการพนัน
ขาดอะไรก็ไม่เท่า ขาดความรู้

ดูอะไรก็ไม่เท่า ดูจิต
หลงอะไรก็ไม่เท่า หลงตัวเอง

เห็นอะไรก็ไม่เท่า เห็นผิดเป็นชอบ
ตอบอะไรก็ไม่เท่า ตอบแทนบุญคุณ

ให้อะไรก็ไม่เท่า ให้ธรรมะเป็นทาน
สุขอะไรก็ไม่เท่า สุขภาพ...

(พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี)

......................................................................................................................................................................... 

“คนที่มีบุญนั้น...
บุญย่อมคอยจ้องที่จะเข้าช่วยอยู่แล้ว
เพียงแต่เปิดโอกาสให้เข้าช่วย
คือ เปิดใจรับนั่นเอง...
การเปิดใจรับก็คือ...
เปิดอารมณ์ที่หุ้มห่อออกเสียแม้ชั่วขณะหนึ่ง
ด้วยสติที่กำหนดทำใจ
ตามวิธีของพระพุทธเจ้า
เมื่อบุญได้โอกาสพรั่งพรูเข้ามาถึงใจ
หรือโผล่ขึ้นมาได้แล้ว
จิตใจจะกลับมีความสุขอย่างยิ่ง
อารมณ์ทั้งหลายที่เคยเห็นว่าดีหรือร้าย
ก็จะกลับเป็นเรื่องธรรมดาโลก”

พระโอวาท
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


......................................................................................................................................................................... 

คนมีปัญญา รู้จักทำใจให้เป็นสุข แม้แต่ในเรื่องที่ไม่น่าสุข ส่วนคนโง่ สามารถทำใจให้เป็นทุกข์ได้แม้ในเรื่องที่ไม่น่าทุกข์ ...

......................................................................................................................................................................... 

จาคานุสติ

โดยหลวงปู่เทสก์ เทสรํสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย

จาคานุสติ ในที่นี้ท่านให้ระลึกถึง "จาคะ" การสละของของตนเป็นอารมณ์ เพื่อให้จิตสงบนั่นเอง หากไม่มีสติมันก็ไม่เป็นภาวนา ต้องมีสติจึงจะเป็นภาวนาคือระลึกได้ในทานที่เราสละไปตั้งนานแล้ว เมื่อมาระลึกถึงก็เกิดความปลื้มปีติขึ้นมา ทำให้จิตสงบได้อันนั้นแหละเป็นจาคานุสติ

เราทำบุญทำทานการกุศลสิ่งใด มากหรือน้อย ไม่เป็นปัญหา มันอยู่ที่อนุสติ อนุสติมีมากมันก็สงบมาก อนุสติไม่มีหรือมีน้อยก็สงบน้อยหรือไม่สงบเลย การที่จะให้มีสติระลึกได้นั้นมันยากอยู่เหมือนกัน ต้องอาศัยปัญญาอีกด้วย ถ้าไม่เกิดปัญญามันก็ไม่มีอนุสติและก็ไม่ระลึกถึงด้วย มันต้องเสาะแสวงหาถึงเรื่อง จาคะ การบริจาคของเรา เช่น วัตถุทานสิ่งใดที่เราให้ท่านไปแล้วนั้น อย่าเป็นเพียงแต่ว่าให้เฉยๆ ต้องคิดถึงคุณค่าประโยชน์ในวัตถุทานด้วยว่าวัตถุทานเราได้มาโดยชอบหรือไม่ เราหามาได้โดยง่ายหรือยาก

โดยทั่วไปแล้ว การทำทานที่จะให้ได้รับผลโดยสมบูรณ์นั้นต้องครบอาการ 3 คือ ประกอบด้วย การมีศรัทธา มีวัตถุทาน และมีผู้รับทาน

บางทีการที่เราจะทำทานมันก็ยากอยู่มีศรัทธามีวัตถุทานแต่ปฏิคาหก ผู้รับทานนั้นขาดไป บาที่มีวัตถุทาน แต่ไม่มีเจตนาที่จะทำทาน มันก็ขาดไปเหมือนกัน ต้องมีวัตถุด้วยมีเจตนาด้วย แล้วก็มีผู้รับทานด้วย ถึงจะถึงพร้อมอาการ 3 แต่ว่าการที่จะมีผู้รับทานนั้น คนที่รับทานนั้นสมควรแก่ท่านของเราหรือไม่ นั่นเป็นข้อสำคัญอีกเหมือนกัน

อนึ่ง ให้คิดถึงประโยชน์ของทานวัตถุที่เราสละไป เช่น สร้างกุฏิ วิหาร หรือศาลา ตัวอย่างเช่น ศาลาหลังนี้เราสร้างขึ้นไว้เพียง 100 บาท 1,000 บาท เท่านั้นเอง แต่ได้ใช้ประโยชน์นานมากมายตั้งหลายสิบปี ดังนั้น วัตถุที่เราทานไปจึงเป็นของมีค่ามาก หากเราจะไปซื้อวัตถุสิ่งใด เป็นอาหารการกินด้วยเงินร้อยบาท ไม่กี่วันก็หมดไป แต่เรามาจาคะให้เป็นวัตถุถาวร บุคคลอื่นๆ อีกหลายๆ คนก็ได้มาพึ่งพาอาศัย ได้มาอยู่เย็นเป็นสุข นอกจากพระเจ้าพระสงฆ์แล้วยังมีผู้ที่ทำความเพียรภาวนาฝึกฝนอบรมจิตใจจนได้ผลจิตสงบเยือกเย็น อันนี้อานิสงส์มากที่สุด หากคิดอย่างนี้ พิจารณาอย่างนี้ จึงค่อยเกิดปีติเรียกว่า อนุสติ คือ มีสติระลึกได้นั่นเอง

คราวนี้มาพูดถึงเรื่อง จาคะ ด้านภาวนาดูบ้าง เมื่อพูดถึงด้านภาวนา จะเห็นว่า จาคะเป็นเรื่องของภาวนาโดยแท้ เรียกว่าเป็น อนุสติภาวนา อย่างหนึ่ง

ในขณะที่นั่งภาวนา เราจะเอาอะไรมาเป็นทานวัตถุนอกจากอารมณ์ที่เกิดจากใจเท่านั้น และการภาวนาก็ไม่ให้ส่งจิตออกไปภายนอกให้กำหนดจิตนิ่งแน่วอยู่ในที่เดียว เมื่ออารมณ์อันใดเกิดขึ้นมาที่ใจ ก็ให้สละจาคะออกไปเสีย นี่แหละจึงจะเป็นจาคะอันแท้จริง

ของที่เราจะจาคะมีมากมายเหลือเกิน เช่น โลภ โกรธ หลง ล้วนแต่เป็นสิ่งที่น่าจาคะทั้งนั้น จาคะ หมายความว่า "สละ" เข้ากับศัพท์บาลีที่ท่านว่า "จาโค ปฏินิสุสฺคฺโค มุตฺติ อนาลธย"

จาโค ปฏินิสุสฺค สละคืนของเดิมไป

มุตฺติ อนาลโย ไม่มีอาลัยในสิ่งที่เราจาคะแล้ว

ลองพิจารณาดูว่า จาคะตรงนั้นจะจาคะอะไร ก็จาคะสิ่งที่มีอยู่ที่ใจของเรานั่นเอง ใจมันผูกพันในสิ่งใด สละให้ไปจะเป็นวัตถุสิ่งของก็ได้ จะเป็นอารมณ์ต่างๆ ก็ได้ เช่น เรามาอยู่วัด คิดถึงบ้านมีความกังวลต่างๆ ก็ค่อยๆ จาคะไป คิดถึงลูกหลายก็ค่อยจาคะไป ความรัก ความชั่ง ความเกลียด ความโกรธก็ค่อยจาคะไป จาคะไปทีละเล็กทีละน้อยมันก็ค่อยหมดไป

บางคนอาจสงสัยว่าจาคะให้ใคร พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย" คืนของเก่าไปแล้วก็ไม่มีอาลัยอีก ทุกสิ่งเป็นของเก่าทั้งหมด ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความรัก ความชั่ง เป็นของเก่าทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่วัตถุ มันเป็นนามธรรม คราวนี้ใครเล่าจะเป็นผู้รับเอาก็นามธรรมนั่นแหละรับเอาไปบุคคลใดยังถือว่าเราว่าเขาอยู่บุคคลนั้นก็รับเอาไปครองไว้ในจิตของตน พระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์สาวกของพระองค์ ท่านสละทิ้งไว้ในโลกนี้แล้วเข้าสู่พระนิพพาน

แท้ที่จริง จิตใจของเราเป็นของใสสะอาดบริสุทธิ์ แต่เราไปยึดเอาความโกรธ ความโลภ ความหลงมาใส่ มันก็เลยขุ่นมัวไปหมดถ้าหากใจเป้นของไม่ใสสะอาดแต่เดิมแล้วพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายจะทำให้บริสุทธิ์ได้อย่างไร ใจต้องเป็นของใสสะอาดอยู่แต่เดิม ท่านจึงสามารถทำความบริสุทธิ์ให้กับใจได้ โดยที่ท่านขำระส่วนเปลือกย่อยที่มันลอยขึ้นมาติดอยู่ที่เปลือก เปลือกคืออายตนะทั้งหกของท่านซึ่งเป็นของบริสุทธิ์แต่เดิม

พิจารณาดูเถิด ที่เราต้องชำระอยู่นี้ ล้วนแล้วแต่เป็นของเก่าทั้งนั้น

ความโลภ ที่เราอยากได้นั่นอยากได้นี่ไม่มีที่สิ้นสุดก็เป็นของเก่า มันใช้ให้เราและคนอื่นๆ ทะเยอทะยาน ดิ้นรนกระเสือกกระสน อยากได้ไม่พอสักที

ความโกรธ ก็เป็นของเก่า มันทำให้เราและคนอื่นๆ ตกนรกทั้งเป็น หัวโขนหัวนี้ใครสวมเข้าแล้วทำหน้าตาให้เป็นยักษ์เป็นมารเหมือนกันหมด

ความหลง ก็เช่นเดียวกัน เป็นของเก่า เมื่อความหลงเกิดในบุคคลใดแล้วจะทำให้บุคคลนั้นไม่รู้จักผิดจักถูกเห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิดไปหมด

เมื่อเราไม่โลภมันก็เฉยๆ เมื่อเราไม่โกรธมันก็เฉยๆ เมื่อเราไม่หลงมันก็เฉยๆ คราวนี้เมื่อไปโลภ ไปโกรธ ไปหลงขึ้นมา มันก็มีในตัวเรานั่นเอง มันไม่หมดไม่สิ้นกันสักที กิเลสเหล่านี้ไม่ตายไปจากโลกสักที

ถ้าเราพิจารณาดู รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะว่าเป็นของเก่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง ทิฐิมานะว่าเป็นของเก่า เป็นของมีมาแต่ไหนแต่ไรอยู่ในโลกนี้แล้ว มิใช่ของเพิ่งเกิดในตัวของเรา เพราะฉะนั้น ขอทุกคนจงภาวนากำหนดพิจารณาจาคานุสติ โดยนัยที่อธิบายมานี้



จากหนังสือ ธรรมลีลา ปีที่ 4 ฉบับที่ 41.
พิมพ์ สุวิภา กลิ่นสุวรรณ์

พุทธเจดีย์

โดย  มหานาลันทา

เมื่อพูดถึง พุทธเจดีย์ หลายท่านคงนึกถึงสิ่งก่อสร้างที่ก่ออิฐถือปูน มีรูปร่างดังลอมฟ่าง มีสัณฐานทรงกลมยอดแหลม ภายในบรรจุสิ่งที่นับถือ มีพระบรมธาตุเป็นต้น แต่ความจริงแล้ว ที่เรียกว่า “พุทธเจดีย์” นั้นไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีรูปพรรณสัณฐานดังกล่าวแล้ว แม้เป็นสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ หรือเป็นพระพุทธรูป ก็จัดเป็นพุทธเจดีย์ทั้งสิ้น

ดังนั้น จึงสามารถจัดพุทธเจดีย์ออกเป็น 4 อย่างคือ

1. พระธาตุเจดีย์ คือพระบรมธาตุ หรือพระบรมสารีริกธาตุ ที่โทณพราหมณ์ แจกแก่กษัตริย์เมืองต่างๆ  8 นคร มีพระเจ้าอชาตศัตรูแห่งมคธ เป็นต้น ได้นำไปบรรจุไว้ในสถูป เพื่อสักการบูชา จัดเป็นพระธาตุเจดีย์

2. บริโภคเจดีย์ ได้แก่ สังเวชนียสถาน 4 แห่ง คือ สถานที่ประสติ สถานที่ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา และสุดท้ายสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน สังเวชนียสถาน 4 แห่งนี้ จัดเป็นบริโภคเจดีย์ตามพระพุทธานุญาตและเมื่อนับรวมพระสรีรังคารคือเถ้าถ่านที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระที่โมริยกษัตริย์ แห่งเมืองปิปผลิวัน องค์หนึ่งและตุมพะทะนาน ที่โทณพราหมณ์ใช้ตวงพระบรมธาตุแจกเจ้านครทั้ง 4 มีพระเจ้าอชาตศัตรู แห่งมคธรัฐ เป็นต้น ซึ่งโทณพราหมณ์ได้รับไป โดยนำไปสร้างพระสถูปบรรจุไว้ ณ เมืองกุสินาราองค์หนึ่ง พระสถูปทั้ง 2 องค์นี้ก็นับเป็นบริโภคเจดีย์ เพราะเนื่องด้วยพระพุทธองค์เมื่อรวมกับสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง จึงเป็นบริโภคเจดีย์ในชั้นแรก 6 แห่งด้วยกัน ต่อมาชนะชั้นหลังได้นับเอาบาตร จีวร และบริวาร มีธมกรก เป็นต้นก็ดี เสนาสนะ เตียวตั่ง และกุฏีวิหาร ที่พระพุทธองค์ทรงบริโภคก็ดี เป็นบริโภคเจดีย์ทั้งสิ้น

3. พระธรรมเจดีย์ คือพระเจดีย์ที่บรรจุพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ กล่าวคือวิญญูชนทั้งหลายมีศรัทธาตั้งมั่นในพระพุทธศาสนา ใคร่จะบูชาบริโภคเจดีย์ และพระบรมธาตุเจดีย์ แต่พระเจดีย์ดังกล่าวอยู่ไงไกลจนไม่สามารถจะไปบูชาได้ จึงได้สร้างเจดีย์ขึ้น แต่ไม่อาจจะหาพระบรมธาตุมาบรรจุได้ หรือไม่มีพระบรมธาตุจะบรรจุ จึงถือเอาพุทธวจนะคือพระธรรม จดจารจารึกลงบนแผ่นทอง เงินและศิลา แล้วบรรจุไว้ในพระเจดีย์ พระธรรมที่มักใช้จารจารึกได้แก่ หัวใจของพระพุทธศาสนาที่ว่า “เย ธมฺม เหตุปฺปภวา เตสํ ตถาคโต (อาห) เตลัญฺจโย  นิโรโธจ เอวํ วาที มหาสมโณ” แม้เมื่อมีการจดจารึกพระธรรมวินัยลงเป็นตัวอักษรแล้ว ก็นับถือคัมภีร์พระไตรปิฎกว่า เป็นพระธรรมเจดีย์ด้วย

4. อุเทสิกเจดีย์ เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นด้วยเจตนาอุทิศต่อพระพุทธเจ้า เช่น พระพุทธปฏิมากร หรือพระพุทธรูปปางต่างๆ รวมถึงพระพุทธบาท เป็นต้น เพื่อยังความปิติศรัทธาเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น ให้เกิดกุศลจิต จึงน้อมนำเอาเงินทอง ศิลา โลหะ และไม้แก่น เป็นต้น  มาสร้างเป็นพระพุทธรูป เป็นต้น เรียกว่า อุเทสิกเจดีย์

ในบรรดาพุทธเจดีย์ทั้ง 4 นี้ พระธาตุเจดีย์  หรือพระบรมสารีริกธาตุ นับว่าหาได้ยากยิ่ง แต่ก็มักมีผู้อวดอ้างว่ามีอยู่มากมาย จึงขอนำมาเอาพระนิพนธ์ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) ในพุทธประวัติ เล่ม 3 มาลงไว้ให้ พิจาราณากัน ความว่า

"อนึ่ง ผู้ที่นำสิ่งของนั้นๆ มีกรวดบ้าง ศิลาบ้าง มาแสดงว่าพระธาตุดั่งนี้ก็มีมากในสถานบ้านเมืองนั้นๆ จนประชุมชนไม่ทราบว่าพระธาตุแท้นั้นอย่างไรพระสถูปที่สร้างๆ ขึ้นไว้ ก็มีมากหนาไป ผู้เห็นก็จืดจิต ไม่เลื่อมใส"

จากหนังสือ  ธรรมลีลา  ปีที่ 4  ฉบับที่ 38  พิมพ์  สุวิภา  กลิ่นสุวรรณ์

วิธีละความโกรธ

ความโกรธ เมื่อเกิดขึ้นแก่ผู้ใด ทำให้จิตใจของผู้นั้นเร่าร้อน เป็นทุกข์ ไม่สบายใจ นอนไม่หลับ ฝันร้าย ถ้าโกรธมากๆ อาจทำให้ต้องไปฆ่าผู้อื่น ติดคุกติดตาราง เป็นทุกข์ทั้งแก่ตัวเอง ทั้งแก่ผู้อื่น จะเจริญเมตตาจิตก็ลำบากเพราะเมื่อเจริญไปแก่ผู้ที่เราโกรธอยู่ ก็เจริญไม่ขึ้น แต่ถ้าเราละความโกรธได้ เราก็จะเป็นสุข  ดังพระบาลีว่า “โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ”  แปลว่า “ฆ่าความโกรธได้แล้วย่อมเป็นสุข” ฉะนั้น จะนำวิธีละความโกรธที่แสดงไว้ใน “คัมภีร์วิสุทธิมรรค”  มาแนะนำท่านผู้อ่าน มีถึง 9 วิธี ด้วยกัน คือ

1. ระลึกถึงโทษของความโกรธ

บุคคลผู้มักโกรธนี้ ถูกความโกรธครอบงำแล้ว โกรธเต็มประดา ย่อมประพฤติชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจครั้นประพฤติชั่วด้วยกายวาจาใจแล้ว ย่อมเดือดร้อน ในโลกนี้ตายไปแล้วย่อมเกิดใน อบายภูมิทั้ง 4 ภูมิ หรือเราจะระลึกถึงโอวาทที่พระพุทธเจ้าทรงสอน เช่นว่า “ผู้ใดโกรธตอบผู้ที่โกรธ (ก่อน) เพราะเหตุที่โกรธตอบนั้น ผู้นั้นกลับเลวกว่าผู้ที่โกรธ (ก่อน) นั้นเสียอีก ผู้ไม่โกรธตอบผู้โกรธ (ก่อน) ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธขึ้นมาแล้วมีสติระงับใจเสียได้ (ไม่โกรธตอบ) ผู้นั้นเชื่อว่าประพฤติเป็นประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย คือทั้งฝ่ายตนและฝ่ายผู้อื่นและผู้ที่มัวโกรธอยู่อย่างนี้ ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วย”

2. ระลึกถึงความดีของเขา

ถ้าวิธีที่ 1 ไม่สำเร็จ ลองวิธีที่ 2 คือ ระลึกถึงความดีของเขา เพราะบางคนความประพฤติทางกาย เขาปฏิบัติดีเป็นอันมาก ชนทั้งปวงก็รู้ได้ แต่วาจาและใจไม่เรียบร้อยเราก็ระลึกถึงแต่ความดีทางกายของเขาอย่างเดียว บางคนดีทางวาจาอย่างเดียว พูดจาอ่อนหวาน พูดให้คนอื่นสบายใจมีหน้าชื่นบาน ทักก่อน แต่ความประพฤติทางกายและใจไม่เรียบร้อย เราก็อย่าคิดถึงทางกายและใจ ระลึกถึงแต่ความดีทางวาจาของเขาอย่างเดียว บางคนดีทางใจเท่านั้นความเรียบร้อยทางใจของเขานั้น ปรากฏแก่ชนทั้งปวงในการทำกิจต่างๆ เช่น การไหว้พระเจดีย์ เขาย่อมไหว้โดยเคารพไม่นั่งใจลอย โงกง่วงอยู่ในที่ฟังธรรม เราก็ระลึกถึงแต่ความเรียบร้อยทางใจของเขาอย่างเดียวเถิด สำหรับบางคน ประพฤติไม่ทั้งทางกาย วาจา ใจ เราควรตั้งความกรุณาในบุคคลนั้นด้วยคิด (สงสาร) ว่า “เวลานี้เขาอยู่ในโลกมนุษย์ แต่ว่าอีกไม่นาน เขาก็จะต้องไปเพิ่มให้มหานรกทั้ง 8 ขุม เต็มขึ้น”  เมื่อทำใจเช่นนี้ ความอาฆาต โกรธแค้น ย่อมระงับลงได้ เพราะอาศัยความกรุณา

3. พึงสอนตนว่า “ความโกรธคือการทำความทุกข์ให้ตนเอง”

เช่นว่า “เจ้าไปพะนอความโกรธ อันเป็นตัวตัดมูลรากของศีลทั้งหลายที่เจ้ารักษาเสีย ขอถามหน่อย ใครโง่เหมือนเจ้าบ้างเล่า เจ้าโกรธว่า คนอื่นทำกรรมป่าเถื่อน (กรรมชั่ว) ให้อย่างไรหนอ เจ้าจึงปรารถนาจะทำกรรมเช่นเดียวกันนั้นเสียเองเล่า ถ้าคนอื่นอยากให้เจ้าโกรธ จึงทำความไม่พอใจให้ไฉนเจ้าจึงจะช่วยทำความตั้งใจของเขาให้สำเร็จ โดยปล่อยให้ความโกรธเกิดขึ้นเล่า น่าตำหนิ เจ้าโกรธแล้วจักได้ทำทุกข์ให้แก่เขาหรือไม่ก็ตาม แต่เดี๋ยวนี้ เจ้าก็ได้เบียดเบียนตนเองด้วยโกรธทุกข์ (ความทุกข์ใจเพราะความโกรธ) อยู่แท้ๆ”

4. พิจารณาความที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน

ถ้ายังไม่หายโกรธ พึงพิจารณาให้เห็นว่าตนและคนอื่นต่างมีกรรมเป็นของๆ ตน เช่นว่า เจ้าโกรธเขาแล้ว เจ้าจักทำอะไร กรรมที่มีโทสะเป็นเหตุ จักเป็นไปเพื่อความเสื่อมเสียแก่ตัวเจ้าเองมิใช่หรือ เจ้าจักทำกรรมใดไว้ เจ้าจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น กรรมอันนี้จะสามารถให้สมบัติทั้งหลายมีความเป็นพระราชา พระอินทร์ เป็นต้น ก็หามิได้เลย กรรมนี้มีแต่จะทำให้เจ้าเสวยทุกข์ในเรือนจำ ทุกข์ในนรกเป็นต้น อย่างนี้แล้วจึงพิจารณาถึงฝ่ายคนอื่นบ้าง ดังที่พิจารณาในฝ่ายตน

5. พิจารณาถึงความประพฤติในกาลก่อนของพระศาสดา

เช่นว่า พระศาสดาของเจ้าในกาลก่อนแต่การตรัสรู้แม้เป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญพระบารมีอยู่ตลอด 4 อสงไขยกับแสนกัป มิได้ทรงยังจิตให้คิดประทุษร้ายในบุคคลทั้งหลายผู้เป็นศัตรู แม้เป็นผู้ปลงพระชนม์เอาในชาตินั้นๆ เช่น เรื่องในขันติวาทีชาดก พระโพธิสัตว์ เมื่อพระราชาพระนามว่ากลาพุ ผู้โง่เขลาถามว่า สมณะ แกกล่าววาทะอะไร ตอบว่าอาตมากล่าววาทะคือขันติ (ความอดทน) ถูกโบยด้วยหวายทั้งหนามแล้ว ตัดมือและเท้าเสีย ก็ทรงมิได้ทำแม้แต่อาการขุ่นเคือง หรือเรื่องในมหากปิชาดก พระโพธิสัตว์เกิดเป็นกระบี่ใหญ่ (ลิง) เมื่อถูกชายผู้หนึ่งผู้ที่ตนเองช่วยฉุดขึ้นจากเหวรอดชีวิตแล้ว ยังคิดร้ายว่า “ลิงนี่ก็เป็นอาหารของพวกมนุษย์เหมือนสัตว์ป่าอื่นๆ ในป่านั่นเอง อย่ากระนั้นเลย เราก็หิวแล้ว ฆ่าลิงตัวนี้กินเสียเถิดน่ะ เรากินอิ่มแล้ว จะถือเอาเนื้อมันเป็นเสบียงไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็จักข้ามทางกันดารไปได้เสบียงก็จักมีแก่เราด้วย” ดังนี้แล้ว ยกก้อนหินทุ่มหัวเอากระบี่ใหญ่ก็ยังมองชายผู้นั้น ด้วยดวงตาอันนองด้วยน้ำตากล่าวกะเขาด้วยดีว่า นายจ๋า นายอย่าทำกะข้าซิ น่าติ! นายทำกรรมเช่นนี้ได้ (ลงคอ) นายก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีอายุยืนควรแต่จะห้ามคนอื่น (มิให้ทำร้ายกัน แต่นี่นายกลับทำร้ายเสียเอง) ไม่ยังจิตให้คิดร้ายในชายผู้นั้น ไม่คิดถึงความทุกข์ของตนเลย  ยังพาชายผู้นั้นให้ถึงที่ๆ ปลอดภัยเสียด้วย

6. พิจารณาถึงความที่เคยเกี่ยวข้องกันในสังสารวัฏ

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า สัตว์ผู้ที่ไม่เคยเป็นมารดา ไม่เคยเป็นบิดา ไม่เคยเป็นพี่น้องชาย ไม่เคยเป็นพี่น้องหญิง ไม่เคยเป็นบุตร ไม่เคยเป็นธิดา มิใช่หาได้ง่ายเพราะฉะนั้น เราพึงยัง จิตอย่างนี้ให้เกิดขึ้นในผู้นั้นว่า “ผู้นี้เป็นมารดาในอดีตของเรา รักษาเราอยู่ในท้อง ไม่แสดงอาการเกลียดสิ่งปฏิกูลทั้งหลาย มีอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำลาย และน้ำมูล เป็นต้น ของเรา เช็คได้ราวกะจันทร์แดง (ต้นไม้หอมชนิดหนึ่ง) ให้เรานอนแนบอก อุ้มเราไป เลี้ยงเรามา เป็นบิดาในอดีตของเรา ประกอบอาชีพต่าง ๆ ทำงานที่ยากอื่นๆ บ้างเพื่อประโยชน์แก่ตัวเรา คิดว่า จักเลี้ยงลูกน้อยรวบรวมทรัพย์ด้วยการงานนั้นๆ เลี้ยงเรามา การทำใจร้าย โกรธเคืองในบุคคลนั้น ไม่สมควรแก่เราเลย”

7. พิจารณาอานิสงส์เมตตา

ถ้ายังไม่อาจดับความโกรธได้ ลองพิจารณาอานิสงส์ของเมตตา ถ้าเราละความโกรธได้ มีจิตเมตตาปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข ก็จะได้รับอานิสงส์ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มีถึง 11 อย่าง คือ

  - หลับเป็นสุข

  - ตื่นเป็นสุข

  - ไม่ฝันร้าย

  - เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย

  - เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย

  - เทวดาย่อมรักษาผู้นั้น

  - ไฟ พิษ หรือศัสตรา ย่อมไม่ทำร้ายผู้นั้น

  - จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิเร็ว

  - สีหน้าผ่องใส

  - ไม่หลงตาย คือมีสติก่อนตาย

  - เมื่อไม่บรรลุคุณวิเศษที่ยิ่ง ย่อมเข้าถึงพรหมโลก

8. ใช้วิธีแยกธาตุ

พึงสอนตนอย่างนี้ว่า “ตัวเจ้าเมื่อโกรธบุคคลนั้นโกรธอะไร โกรธผมหรือ หรือว่า โกรธขน โกรธเล็บ ฯลฯ หรือมิฉะนั้น ก็โกรธธาตุดิน โกรธธาตุน้ำ โกรธธาตุไฟ หรือโกรธธาตุลม เมื่อเห็นว่ามีแต่ธาตุ แล้วเราจะโกรธไปทำไม”

9. วิธีสุดท้าย-ทำการให้และการแบ่ง

ถ้ายังไม่หายโกรธอีก พึงให้ของๆ ตนแก่เขา รับของๆ เขามาเพื่อตนเอง แต่ถ้าเขามีอาชีพไม่บริสุทธิ์ ก็พึงให้แต่ของๆ ตนไปฝ่ายเดียว อย่ารับของๆ เขาเลย เมื่อเราทำไปอย่างนั้นความอาฆาตในบุคคลนั้น จะระงับไปได้ ส่วนความโกรธของอีกฝ่ายหนึ่ง แม้จะติดตามมาตั้งแต่อดีตชาติ ก็จะระงับไปในทันทีเหมือนกัน ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ททมาโน ปิโย โหติ”  แปลว่า “ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก (ของผู้รับ)”

  “ เขาว่าเรา เราอย่าโกรธ ลงโทษเขา
    ในเมื่อเรา นี้ไม่เป็น เช่นเขาว่า
    หากเราเป็น จริงจัง ดังวาจา
    เมื่อเขาว่า อย่าโกรธเขา เราเป็นจริง ”



คัดจากหนังสือ   ตายแล้วไปไหน ?
เรียบเรียงโดย    พระมหาสุสวัสดิ์  จนฺทปญฺโญ ป.ธ.๙
พิมพ์โดย           สุวิภา  กลิ่นสุวรรณ์

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เหตุที่เราฝัน

คนทุกคนต้องเคย ฝัน ฝันอยู่บ่อยๆ บ้าง นานๆ ฝันสักครั้งหนึ่งบ้าง ความฝันทั้งหมดนี้เกิดจากเหตุอะไรจะเป็นจริงหรือไม่ ต้องลองอ่านเรื่องนี้ดู

เหตุของความฝัน กล่าวไว้ว่ามี 4 อย่าง คือ

1. ฝันเพราะธาตุกำเริบ คือธาตุในร่างกายแปรปรวนทำให้ฝันต่างๆ เช่น เป็นเหมือนตกจากภูเขา เหมือนเหาะไปทางอากาศ และเหมือนถูกเนื้อร้าย ช้างร้าย และโจร เป็นต้น ไล่ติดตามมา

2. ฝันเพราะจิตอาวรณ์ (เพราะเคยทราบมาก่อน) คือ ฝันถึงอารมณ์ที่ตนเคยผ่านมาแล้ว เช่น เรามีจิตกังวลถึงเรื่องการสอบ เราก็ฝันถึงเรื่องสอบ ว่าข้อสอบออกตรงนั้น ตรงนี้ ถ้าญาติที่เรารักต้องตายจากไป เราคิดถึงเขามาก บางทีก็ฝันเห็นเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือบงคนมีจิตใจใฝ่ในบุญกุศล ก็ฝันว่าได้ทำบุญใส่บาตร ถวายสังฆทาน เป็นต้น

3. ฝันเพราะเทพสังหรณ์ คือ พวกเทวดาทำให้ฝันเพื่อความเจริญบ้าง เพื่อความเสื่อมบ้าง แก่ผู้ฝัน แก่ผู้ฝัน ผู้นั้นย่อมฝันเห็นอารมณ์ต่างๆ ด้วยอานุภาพของพวกเทวดา

4. ฝันเพราะบุพนิมิต คือ เป็นฝันที่เกิดจากบุญและบาป เป็นนิมิต (เครื่องหมาย) แห่งความเจริญบ้าง แห่งความเสื่อมบ้าง เหมือนมารดาของพระโพธิสัตว์ ทรงพระสุบินนิมิตในการที่จะได้โอรส (ซึ่งเป็นฝันที่เกิดจากบุญ) ฉะนั้น

บรรดาเหตุแห่งการฝัน 4 อย่างนี้ 2 อย่างแรก คือ ฝันเพราะธาตุกำเริบ และฝันเพราะจิตอาวรณ์ เป็นฝันที่ไม่เป็นความจริง ส่วนฝันเพราะเทพสังหรณ์ จริงก็มี ไม่จริงก็มี เพราะว่าเทวดาโกรธแล้วประสงค์จะให้พินาศ โดยใช้อุบายให้ฝันก็มีอยู่ ส่วนอย่างสุดท้าย ฝันเพราะบุพนิมิตนี้เป็นจริงโดยส่วนเดียว เพราะเป็นความฝันที่เกิดจากกรรมที่เรากระทำแล้ว

ถ้าเราอยาก ฝันดี ก็ควรไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอนจิตจะได้เป็นบุญกุศล ทำให้ไม่ฝันร้าย หรือเป็นผู้ที่เจริญเมตตา (คือความปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข) อยู่เสมออานิสงส์ของการเจริญเมตตามีข้อหนึ่งว่า ทำให้ไม่ฝันร้ายเพราะผู้ที่เจริญเมตตา เมื่อฝันร้ายย่อมฝันดี เช่น เป็นเหมือนว่ากำลังไหว้เจดีย์ เหมือนว่ากำลังฟังธรรม ส่วนชนทั้งหลายอื่น อาจฝันร้าย เช่น ฝันเห็นตนเหมือนถูกพวกโจรล้อม เหมือนถูกฝูงสัตว์ทำอันตรายเอา เป็นต้น ความฝัน 4 อย่าง เหล่านี้ เกิดแก่ทุกคนได้ ยกเว้นพระอรหันต์ เพราะท่านละวิปลาส (ความเห็นคลาดเคลื่อนจากความจริง) ได้แล้วท่านย่อมไม่ฝันอะไรทั้งสิ้น

ที่ได้นำเรื่องเหตุที่เราฝันมากล่าวไว้ เพื่อให้ท่านผู้ได้ทราบ จะได้ไม่ต้องไปหาหมอดูให้เสียเงินเสียทองจะได้ไม่วิตกกังวลกับเรื่องที่ตนเองฝันเห็นมากเกินไป ทำให้ไม่สบายใจต่างๆ เพราะความฝันอาจจะจริงก็ได้ ไม่จริงก็ได้แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ การกระทำของเราในปัจจุบัน (กรรมปัจจุบัน) นั่นเอง ที่จะเป็นตัวกำหนดชีวิตของเรา ถ้าเราทำกรรมดีในปัจจุบัน ย่อมประสบแต่ความสุข ความเจริญกรรมชั่วยอมให้ผลได้ยาก ตรงกันข้าม ถ้าเราทำกรรมชั่วในปัจจุบัน ย่อมประสบความทุกข์ ความเดือดร้อนต่างๆ


"อยากได้ดี  ไม่ทำดี  นั้นมีมาก

 ดีแต่อยาก  หากไม่ทำ  น่าขำหนอ

 อยากได้ดี  ต้องทำดี  อย่ารีรอ

 ดีแต่ขอ  รอแต่ดี  ไม่ดีเลย"




คัดจากหนังสือ    ตายแล้วไปไหน ?
เรียบเรียงโดย      พระมหาสุสวัสดิ์  จนฺทปญฺโญ ป.ธ.๙
พิมพ์โดย             สุวิภา  กลิ่นสุวรรณ์

พรหมจรรย์ในศาสนา

เรายังมีความฝังใจ กันอยู่อย่างหนึ่งว่า คำว่า ประพฤติพรหมจรรย์ หมายถึง ออกบวชเป็นพระ ซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเหมือนกัน....แต่แคบ ฆราวาสบางคนคิดว่าชาตินี้ไม่มีทางที่จะบำเพ็ญมงคลข้อนี้ได้ ยิ่งท่านสุภาพสตรีก็ยิ่งน่ากลุ้ม บ่นว่าอาภัพอับโชคเอาเลยจริงๆ ก็มี

ทั้งนี้ เป็นเพราะความฝังใจ ตามที่ว่ามาแล้ว คือเข้าใจว่าลงได้ประพฤติพรหมจรรย์แล้วก็ต้องครองเพศ ต่างจากชาวบ้านโกนผม โกนคิ้ว นุ่งห่มผ้าเหลือง อย่างนี้เท่านั้น

เพื่อความแน่นอนใจ จะยกเอาหลักฐานมาวางไว้ให้ท่านผู้อ่านตรวจดูเอง ในคัมภีร์มงคลทีปนี ซึ่งเป็นคัมภีร์อธิบายพระพุทธวจนะเรื่องมงคล 38 โดยตรง ท่านอธิบายไว้ เป็นคำบาลี อย่างนี้

"พรหมจะรยัง นามาะ ทานะ เวยยาวัจจะ ปัญจะสีละ อัปปะมัญญา เมถุนะวิระติ สะทาระสันโตสะ วิริยะ อุโปสะถังคะ อริยมัคคะ สาสะนะวะเสนะ ทะสะวิธัง โหติ"

แปลว่า

"ข้อวัตร ที่เรียกว่า พรหมจรรย์นั้น มี ๑๐ อย่าง คือ

1. ทาน

2. เวยยาวัจจะ

3. เบญจศีล

4. เมตตาอัปปมัญญา

5. เมถุนวิรัติ

6. สทารสันโดษ

7. วิริยะ

8. อุโบสถ

9. อริยมรรค

10. ศาสนา

หมายความว่า ข้อปฏิบัติ สิบข้อนี้ แต่ละข้อ เรียกว่า พรหมจรรย์"

พรหมจรรย์ ทั้งสิบนี้ ถ้าแบ่งเป็นชั้น ต่ำ กลาง สูง และให้สังเกตว่า ทุกชั้น ต้องมีศีล กับธรรม ควบกันไปเสมอ ดังต่อไปนี้

ชั้นของพรหมจรรย์

10.  ศาสนา  =  ปฏิบัติธรรมทุกข้อในศาสนา

- ชั้นสูง

9. อริมรรค  =  บำเพ็ญมรรค 8 (ไตรสิกขา)

8. อุโบสถ  =  รักษาศีลอุโบสถ                                       

7. วิริยะ  =  ทำความเพียร

- ชั้นกลาง

6. เมถุนวิรัติ  =  เว้นเสพเมถุน

5. สทารสันโดษ  =  พอใจแต่ในคู่ครองของตน         

4. อัปปมัญญา  =  แผ่เมตตา แก่สัตว์ทั่วไป

- ชั้นต้น

3. เบญจศีล  =  รักษาศีลห้า

2. เวยยาวัจจะ  =  ขวนขวาย ในการทำประโยชน์  

1. ทาน  =  การสละทรัพย์ให้คนอื่น

ถ้าท่านจะพิจารณา รายละเอียด ในพรหมจรรย์ 10 ข้อนี้ กรุณานึกไว้เสมอว่า ความมุ่งหมาย ของการประพฤติพรหมจรรย์คือการตัดโลกีย์

ที่ว่าตัดโลกีย์ ก็คือ ให้ตัดเยื่อใย ในทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือเรื่องของ กามารมณ์

และโปรดสังเกต ต่อไปว่า ท่านได้วางหลักปฏิบัติ ไว้สอดคล้อง กับความมุ่งหมายดังกล่าว

ทุกชั้น จะมีการรักษาศีล และการปฏิบัติธรรม ควบกันไปเป็นระยะๆ ดังจะอธิบายต่อไป


พรหมจรรย์ชั้นต้น

พอขึ้นต้นก็คือ การถอนความห่วงใย ในพัสดุ ของนอกตัวสละให้คนอื่นไป วิธีนี้ เรียกว่า ทาน

ที่ให้ก็ไม่ใช่หมายถึง ให้จนหมดตัว แต่ให้บั่นทอน ความมัวเมา ติดพันลง ส่วนปัจจัย เครื่องจับจ่าย ดำรงชีพ ไม่ห้าม

นอกจาก ตัดจากตัว ให้ไปแล้ว ยังช่วยขวนขวาย ทำประโยชน์ ให้คนอื่นอีกด้วย ที่เรียกว่า เวยยาวัจจกรรม

ส่วนการรักษา เบญจศีล นั้น เป็นการตัดทาง ที่จะกอบโกย เอาพัสดุของโลก มาเป็นของตน ในทางมิชอบ

ในขันนี้ ปัญหาทางกาม ยังไม่ตัดขาด เพียงแต่ ไม่ทำผิดประเวณี เช่นไปทำชู้ กับชายหญิงต้องห้าม



พรหมจรรย์ชั้นกลาง

คือปฏิบัติ พรหมจรรย์ชั้นต้น นั่นเอง ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น เช่น ในด้านการเสียสละ ในชั้นต้น เพียงให้ของ ให้แรงงาน แต่มาในชั้นกลาง ให้เมตตา

การแผ่เมตตา ในชั้นนี้ เรียกว่า อัปปมัญญา คือปรารถนาให้สรรพสัตว์ มีความสุขความเจริญ ไม่เลือกหน้า ไม่ว่าผู้นั้น สัตว์นั้น จะเป็นมิตร หรือศัตรู

ส่วนทางกามารมณ์ ท่านวางไว้ 2 ประเด็น

คือผู้ถือบวช ให้เว้นเสพเมถุนเด็ดขาด (เมถุนวิรัติ)

ส่วนผู้ครองเรือน ให้เว้นจากการร่วมหลับนอน กับหญิงอื่นแต่จะหลับนอน กับภรรยา หรือสามีของตน ก็ได้ (สทาสันโดษ)



พรหมจรรย์ชั้นสูง

ต้องปรารภความเพียร ซึ่งความเพียร ในชั้นนี้ หมายถึงความเพียรพยายาม ที่จะละกิเลส เช่น นั่งสมาธิ เดินจงกรม ฟังธรรมะ พิจารณาธรรมะ

รวมความว่า ต้องใช้เวลาของชีวิตแทบทั้งหมด ในการทำความเพียร เพื่อตัดกิเลส

ทางด้านกามารมณ์ ต้องตัดขาดทั้งหมด ต้องถือศีลอย่างน้อย คือศีลอุโบสถ และประการสำคัญ คือต้องบำเพ็ญมรรคแปด

ตรงมรรคแปด นี่แหละ ที่จะทำให้บรรลุ โลกุตรภูมิ



พรหมจรรย์รวบยอด

พรหมจรรย์ ข้อที่ 10 มิได้จัดไว้ ในขั้นใดขั้นหนึ่ง เพราะเป็นข้อรวบยอด ท่านหมายถึง ความสำเร็จ ในอธิสิกขา 3 แล้ว คือ

1. อธิศีลสิกขา  สำเร็จศีล ชั้นยอดแล้ว

2. อธิจิตตสิกขา  สำเร็จทางสมาธิ ชั้นยอดแล้ว

3. อธิปัญญาสิกขา  สำเร็จ ได้ดวงปัญญา ชั้นยอดแล้ว

หมายถึง ผู้บำเพ็ญมรรค 8 สมบูรณ์เต็มที่แล้ว

ความเข้าใจ ของข้าพเจ้า คิดว่า ท่านคงหมายถึง ผู้บรรลุอรหัตผล

ผู้บรรลุขั้นนี้ ท่านเรียกว่า "กะตะพรหมจะริยัง"  หมายความว่า "พรหมจรรย์สำเร็จแล้ว"

ที่นี้จะชี้ให้ดูแนวทางที่จะถอนตัวจากกามตามทางวินัยที่เห็นกันง่ายๆให้สังเกตดูว่าท่านมีวิธีริดรอนกามารมณ์อย่างไรเฉพาะเรื่องกามอย่างเดียว

เริ่มต้นจริงๆ คือศีลห้า ข้อที่ 3 ท่านห้ามทำผิด เพราะเรื่องความกำหนัดทางกาม เช่น เจ้าชู้ ฉุดคร่าอนาจาร นี่ขั้นต้นต้นจริงๆ ขอให้นึกดูง่ายๆ ว่า สัตว์ทั้งปวงในโลกนี้มีความกำหนัดในทางกาม และส่วนมากก็ตกเป็นทาสของความกำหนัด ที่เรียกว่า จมอยู่ในกาม มันทำอะไรไปตามอำเภอใจ พระพุทธศาสนา เริ่มให้ข้อปฏิบัติว่า คนทุกคนจะต้องเว้นการทำความผิด เพราะความกำหนัดเสีย ไม่ได้ห้ามการเสพกามแต่ห้ามทำความผิด ในเรื่องนี้ ข้อห้ามนี้ คือศีลห้า ข้อที่ 3 แต่พอถึงขั้นรักษาศีลอุโบสถ ข้อห้ามนี้ ได้เข้มงวดขึ้นมาอีกคือห้ามเสพเมถุน เลยทีเดียว ที่ตัด ก็เพื่อให้ขาด จากโลกีย์ ยิ่งไปถึง พรหมจรรย์ชั้นสูง คืออริยมรรค ยิ่งตัดละเอียดเข้าไป จนแม้แต่ ความนึกทางใจ ก็ตัด เป็นบทสุดท้าย

พูดถึงเรื่องพรหมจรรย์แล้ว ก็ทำให้นึกถึง ข้อธรรมบางอย่าง ที่นักศึกษาธรรม ชอบคิดกระอักกระอ่วม คือเรื่องอานิสงส์ศีล ข้อที่ว่า นิพพุติง ยันติ ที่แปลว่า ศีลเป็นเหตุ ให้บรรลุนิพพาน

บางคนสงสัยว่า ศีลเป็นเพียง บันไดขั้นต้น ไม่น่าจะทำให้ถึงนิพพาน ต้องสมาธิ ปัญญา จึงจะถึงได้ เสร็จแล้ว ก็หวนมาแปลงคำแปล “นิพพุติง ยันติ” แปลว่า “ถึงความเยือกเย็น” อย่างนี้เป็นต้น แต่ความจริงแล้ว ขอให้ดู ในพรหมจรรย์ ทั้ง 10 ข้อนั้นท่านจะเห็นได้ว่า ศีลเป็นปัจจัยสำคัญ ในการตัด จากโลกีย์ ตั้งแต่ต้น จนตลอดเลย

ถ้าหากจะเอาศีล เปรียบกับบันได ก็ไม่ควรเปรียบ กับขั้นบันได แต่ควรเปรียบ กับแม่บันได บันไดสูงเท่าไร แม่บันได ก็ต้องสูงเท่านั้น ปลายข้าง ของแม่บันได จดที่พื้นล่าง... อีกข้าง จดพื้นบน ศีลก็เหมือนกัน จำเป็น ตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งสุดเขตโลกีย์.......นี่ขอฝาก ไว้เป็นข้อคิด

ธรรมคุณ 6

คุณของพระธรรมคุณมี 6 ประการ ดังที่นักปราชญ์ได้ร้อยกรองเป็นบทสวดสำหรับน้อมนำระลึกไว้ในใจ ดังนี้

1. สวากขาโต ภควตา ธัมโม หมายถึง ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้วท่ามกลาง อันได้แก่ สมาธิและงามในที่สุด อันได้แก่ ปัญญา พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์หรือหลักการครองชีวิตอันประเสริฐ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

2. สันทิฏฐิโก หมายถึง ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ผู้ใดปฏิบัติ ผู้ใดบรรลุ ผู้นั้นย่อมเห็นประจักษ์ด้วยตนเอง ไม่ต้องเชื่อตามคำบอกเล่าของผู้อื่น ผู้ใดไม่ปฏิบัติ ไม่บรรลุ ผู้อื่นจะบอกก็เห็นไม่ได้

3. อกาลิโก หมายถึง ไม่ประกอบด้วยการ ผู้ปฏิบัติไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา พร้อมเมื่อใดบรรลุได้ทันที บรรลุเมื่อใดเห็นผลได้ทันที นั่นคือ ให้ผลในลำดับแห่งบรรลุไม่เหมือนผลไม้อันให้ผลตามฤดูกาล

4. เอหิปัสสิโก หมายถึง ควรเรียกให้มาดู พระธรรมเป็นคุณอัศจรรย์ดุจของประหลาดที่ควรเชิญชวนให้มาชมและพิสูจน์หรือท้าทายต่อการตรวจสอบ เพราะเป็นของจริงและดีจริง

5. โอปนยิโก หมายถึง ควรน้อมเข้ามา ผู้ปฏิบัติควรน้อมเข้ามาไว้ในใจของตนหรือน้อมใจเข้าไปให้ถึงด้วยการปฏิบัติให้เกิดขึ้นในใจ

6. ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ หมายถึง อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ผลอันเกิดจากการปฏิบัติธรรมนั้น ทุกคนที่น้อมนำมาปฏิบัติ จะรู้ซึ้งถึงผลแห่งพระธรรมนั้นด้วยตนเอง ทำให้กันไม่ได้ เอาจากกันไม่ได้ และรู้ได้ประจักษ์ในใจของตนเอง

คุณของพระธรรมข้อที่ 1 มีความหมายกว้าง รวมทั้งปริยัติธรรม คือ คำสั่งสอนด้วย ส่วนคุณของพระธรรมข้อที่ 2 ถึงข้อที่ 6 มุ่งให้เป็นคุณของโลกุตตรธรรม

ดังนั้น เมื่อทราบความหมายของธรรมคุณ 6 ทั้งหมดแล้ว การสวดมนต์เพื่อสรรเสริญพระธรรมคุณในครั้งต่อๆ ไป คงจะทรงความหมายอย่างเปี่ยมล้น

อนึ่ง การน้อมนำคุณของพระธรรม เพื่อเจริญธัมมานุสตินั้น มีอานิสงส์มาก ดังที่ ปัญญา ใช้บางยาง ได้บอกไว้ในหนังสือธรรมาธิบาย เล่ม 1 ว่า

- ย่อมเป็นผู้มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา

- ตระหนักและอ่อนน้อมในพระธรรม

- ย่อมได้ความไพบูลย์แห่งคุณ มีศรัทธา เป็นต้น

- เป็นผู้มากด้วยปีติปราโมทย์

- ทนต่อความกลัว ความตกใจ อดกลั้นต่อทุกข์

- รู้สึกว่าได้อยู่กับพระธรรม

- เป็นบาทฐานให้บรรลุธรรมอันยิ่ง

- เมื่อประสบกับวัตถุที่จะพึงล่วงละเมิด หิริโอตตัปปะ ย่อมปรากฏแก่เธอ

- เมื่อยังไม่บรรลุคุณอันยิ่ง เธอย่อมมีสุคติต่อไป

เหตุที่มนุษย์มีสภาพแตกต่างกัน

มูลปัณณาสก์มัชฌิมนิกาย แสดงไว้ว่า

- ฆ่าสัตว์ ไม่มีความกรุณา เป็นเหตุให้ อายุสั้น

  ไม่ฆ่าสัตว์  มีความกรุณา เป็นเหตุให้ อายุยืน

- เบียดเบียนสัตว์ เป็นเหตุให้ มีโรคมาก

  ไม่เบียดเบียนสัตว์ เป็นเหตุให้ มีโรคน้อย

- มักโกรธ มีความคับแค้นใจมาก เป็นเหตุให้ ผิวพรรณชั่ว

  ไม่โกรธ ไม่มีความคับแค้นใจ เป็นเหตุให้ ผิวพรรณผุดผ่อง

- มีใจริษยาผู้อื่น เป็นเหตุให้ มีอานุภาพน้อย

  ไม่ริษยาผู้อื่น เป็นเหตุให้ มีอานุภาพมาก

- ไม่บริจาคทาน เป็นเหตุให้ ยากจนอนาถา

  บริจาคทาน เป็นเหตุให้ มีโภคสมบัติมาก

- กระด้าง ถือตัว เป็นเหตุให้ เกิดในสุกลต่ำ

  ไม่กระด้าง ไม่ถือตัว เป็นเหตุให้ เกิดในสกุลสูง

- ไม่อยากรู้ ไม่ไต่ถามผู้มีปัญญา เป็นเหตุให้ มีปัญญาน้อย

  อยากรู้ หมั่นไต่ถามผู้มีปัญญา เป็นเหตุให้ มีปัญญามาก

สัตว์นรก ครั้นสิ้นกรรมแล้ว มาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมเกิดในสกุลต่ำ เป็นคนยากจนอดอยาก เป็นอยู่โดยฝืดเคือง มีรูปร่างผิวพรรณไม่สมประกอบ

กิจโฉ มนุสสะปฏิลาโภ   การเกิดเป็นมนุษย์ นั้น แสนยาก

กิจฉัง มัจจานะ ชีวิตัง    การดำรงชีวิตอยู่ของสัตว์ทั้งหลาย นั้น แสนยาก

กิจฉัง สัทธัมมัสสะวะนัง   การได้ฟัง พระสัทธรรม นั้น แสนยาก

กิจโฉ พุทธานะมุปปาโท   การบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย นั้น แสนยาก

โลกมนุษย์ สวรรค์ และ อบาย

แม้ว่าตามปกติพวกมนุษย์จะถือว่าเทวดาสูงกว่าพวกตน และพากันอยากไปเกิดในสวรรค์ แต่สำหรับพวกเทวดา เขาถือกันว่า การเกิดเป็นมนุษย์เป็น สุคติ ของพวกเขา ดัง พุทธพจน์ ยืนยันว่า “ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นมนุษย์นี่แล นับว่าเป็นการไปสู่ สุคติ ของเทพทั้งหลาย”

เมื่อเทวดาองค์ใดองค์หนึ่งจะ จุตุ (ตาย) เพื่อนเทพชาวสวรรค์จะพากันอวยพรว่าให้ไปสู่ สุคติ คือไปเกิดเป็นมนุษย์ทั้งหลาย เพราะโลกมนุษย์เป็นถิ่นที่มีโอกาสเลือกประกอบ กุศลกรรม ทำความดีงามต่างๆ และประพฤติปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่ (ความชั่วหรือ อกุศลกรรมต่างๆ ก็เลือกทำได้เต็มที่เช่นเดียวกัน)

การเกิดเป็นเทวดาที่มีอายุยืนยาว ท่านถือว่าเป็นการเสียหรือพลาดโอกาสอย่างหนึ่งในการที่จะได้ ประพฤติพรหมจรรย์ (ปฏิบัติตาม อริยมรรค) เรียกอย่างสามัญว่าเป็นโชคไม่ดี พวกชาวสวรรค์มีแต่ความสุข ชวนให้เกิดความประมาทมัวเมา สติไม่มั่น ส่วนโลกมนุษย์มีสุขบ้างทุกข์บ้างปนกันไป มีประสบการณ์หลากหลายเป็นบทเรียนได้มาก เมื่อรู้จักกำหนดก็ทำให้ได้เรียนรู้ ช่วยให้สติเจริญว่องไวทำงานได้ดีเกื้อกูลแก่การฝึกตนและการที่จะก้าวหน้าในอริยธรรม

เมื่อพิจารณาในแง่ระดับแห่งคุณธรรมให้ละเอียดลงไปอีกจะเห็นว่า มนุษย์ภูมิ นั้นอยู่กลางระหว่าง เทวภูมิ หรือสวรรค์ กับ อบายภูมิ มีนรก เป็นต้น

พวก อบาย เช่นนรกนั้น เป็นที่ของคนบาปด้อยคุณธรรม (ธรรมเป็นคุณ ความดีงาม สภาพที่เกื้อกูล) แม้ชาว อบาย บางส่วนจะจัดได้ว่าเป็นคนดี แต่ก็ตกไปอยู่ในนั้น เพราะความชั่วบางอย่างให้ผลถ่วงดึงลงไป

ส่วน สวรรค์ ก็เป็นแดนของคนดีค่อนข้างมีคุณธรรม แม้ว่าชาวสวรรค์บางส่วนจะเป็นคนชั่วแต่ก็ได้ขึ้นไปอยู่ในแดนนั้น เพราะมีความดีบางอย่างที่ประทุแรงช่วยผลักดันหรือฉุดขึ้นไป

ส่วน โลกมนุษย์ ที่อยู่ระหว่างกลาง ก็เป็นประดุจชุมทางที่ผ่านหมุนเวียนกันไปมาทั้งของชาวสวรรค์และชาว อบาย เป็นแหล่งที่สัตว์โลกทุกพวกทุกชนิดมาทำ มาหากรรม เป็นที่คนชั่วมาสร้างตัวให้

เป็นคนดีเตรียมไปสวรรค์ หรือ คนดีมาสุมตัวให้เป็นคนชั่วเตรียมไปนรก ตลอดจนเป็นที่ผู้รู้จะมาสะสางตัวให้เป็นคนอิสระ เลิกทำมาหากรรม เปลี่ยนเป็นผู้หว่านธรรม ลอยพ้นเหนือการเดินทางหมุนเวียนต่อไป

พระธรรมปิฎก  (ป.อ.ปยุตฺโต)

วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

คำขอขมาและอธิษฐานจิต

“ เพราะคนเราเกิดมาหลายภพหลายชาติ แต่ละคนมีเจ้ากรรมนายเวรที่แตกต่างกัน ควรสวดขอขมาเพื่อลด และปลดหนี้กรรมให้น้อยลง ”
(สำหรับอธิษฐานหน้าพระพุทธรูป หรือสวดก่อนนอน)

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ 3 จบ

สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต

หากข้าพเจ้า จงใจหรือประมาทพลาดพลั้ง ล่วงเกินบิดา-มารดา ครูบาอาจารย์ พระพุทธ พระธรรม พระอรหันต์ทุกพระองค์ พระอริยสงฆ์เจ้า ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย รวมถึงผู้มีพระคุณ และ

ท่านเจ้ากรรมนายเวร จะด้วยกาย วาจา ใจ ขอได้โปรดอโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้าด้วย หากข้าพเจ้ามีเจ้าของในตัวติดตามมา ข้าพเจ้าขออนุญาตมีคู่ มีครอบครัวได้เหมือนคนปกติทั่วไป ขอถอนคำ

อธิษฐาน คำสาบานที่จะติดตามคู่ในอดีตขอให้ต่างฝ่ายต่างเป็นอิสระ
ข้าพเจ้าจะประพฤติตนในทางที่ถูก ที่ชอบ ที่ควร ขอบุญบารมีในอดีตกาลที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จงส่งผลให้ข้าพเจ้าและครอบครัว ตลอดจนบริวารที่เกี่ยวข้อง จงเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ

ลาภ ยศ สรรเสริญ สติปัญญา ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ อุปสรรคใดๆ โรคภัยใดๆ ขอให้มลายสิ้นไป ขอให้ข้าพเจ้ามีความสว่างทั้งทางโลกและทางธรรม ตั้งแต่บัดนี้จนตราบเข้าสู่นิพพานเทอญ

ข้าพเจ้าขอถอนคำสัญญา คำสาบาน คำอธิษฐาน ที่ผูกมัดตัวเองและผู้อื่น ขอให้ต่างฝ่ายต่างเป็นอิสระจากสัญญาทั้งปวง (หากข้าพเจ้าหมดอายุแล้ว ข้าพเจ้าขออยู่ต่อเพื่อสร้างบารมี)
หากมีผู้ใดเคยสร้างเวรสร้างกรรมกับข้าพเจ้า ไม่ว่าจะชาติใดภพใดก็ตาม ข้าพเจ้ายินดีอโหสิกรรมให้ ขอถอนความอาฆาต ความพยาบาท และคำสาปแช่งในทุกชาติ ทุกภพ ขอให้ข้าพเจ้าพ้นจาก

คำสาปแช่งของปวงชนของเจ้ากรรม ขอให้พ้นจากนรกภูมิ และพบแสงสว่างทั้งทางโลกและทางธรรม

พุทธคุณ 9

คำว่า “พุทธคุณ” เป็นคำที่ชาวพุทธคุ้นหูกันเป็นอย่างดี แต่เชื่อว่าหลายคนยังไม่เข้าใจคำนี้ได้อย่างถูกต้องนัก จึงขอนำมาอธิบายขยายความไว้ในที่นี้ โดยในพจนานุกรม พุทธศาสน์ ของรอง ศาสตราจารย์ดนัย ไชยโยธา ได้ให้ความหมายไว้ว่า

พุทธคุณ 9 คือ คุณความดีของพระพุทธเจ้า 9 ประการ ดังที่นักปราชญ์ได้ร้อยกรอง เพื่อให้เป็นบทสวดสรรเสริญพระคุณอันประเสริฐไว้ดังนี้

1. อรหํ  เป็นพระอรหันต์ มีคำแปลและความหมายอย่างน้อย 4 ประการ ดังนี้

    - เป็นผู้ควร คือ ผู้ทรงสั่งสอนสิ่งใดก็ทรงทำสิ่งนั้นได้ด้วย เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์

    - เป็นผู้ไกล คือ ผู้ทรงไกลจากกิเลสและบาปกรรม เพราะทรงละได้เด็ดขาดแล้วทั้งโลภ โกรธ และหลง

    - เป็นผู้หักซี่กำแพงล้อสังสารวัฏ คือ ผู้ทรงตัดวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏได้แล้ว

    - เป็นผู้ไม่มีข้อลี้ลับ คือ ผู้ทรงไม่มีบาปธรรมทั้งที่ลับและที่แจ้ง เป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอนผู้อื่น และเป็นผู้ควรได้รับความเคารพของผู้อื่น

2. สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผู้ทรงตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง คือ ทรงตรัสรู้อริยสัจ 4 อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นการค้นพบด้วยพระองค์เอง ไม่มีครู อาจารย์เป็นผู้สอน

3. วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ คือ มีวิชชาความรู้ตั้งแต่ความรู้ระดับพื้นฐาน จนกระทั่งความรู้ระดับสูงสุด และมีจรณะความประพฤติดีประพฤติได้ตามที่ทรงรู้ เช่น ความสำรวมในศีล เป็นต้น

4. สุคโต เป็นผู้เสด็จไปดี คำว่า “ไปดี” มีความหมายหลายนัยคือ

    - เสด็จดำเนินตามอริยมรรคมีองค์แปด อันเป็นทางเดินที่ดี

    - เสด็จไปสู่พระนิพพาน อันเป็นสภาวะที่ดียิ่ง

    - เสด็จไปดีแล้ว เพราะทรงละกิเลสได้โดยสิ้นเชิง

    - เสด็จไปปลอดภัยดี เพราะเสด็จไปบำเพ็ญประโยชน์แก่สัตว์โลก

5. โลกวิทู เป็นผู้ทรงรู้แจ้งโลก คือทรงรอบรู้โลกทางกายภาพ เช่นโลกมนุษย์ สัตว์โลก สังขารโลก โอกาสโลก และทรงรู้โลกภายในคือ ทุกข์และการดับทุกข์

6. อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ เป็นสารถีผู้ทรงฝึกคนได้อย่างยอดเยี่ยม คือ พระองค์ทรงรู้นิสัย (ความเคยชิน) อุปนิสัย (มีแวว) อธิมุตติ (ความถนัด) อินทรีย์ (ความพร้อม) ของบุคคลระดับต่างๆ และทรงฝึกสอนด้วยเทคนิควิธีการที่เหมาะแก่ความเคยชิน แววถนัด และความพร้อมของเขาให้บรรลุมรรคผลเป็นจำนวนมาก

7. สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย คือ พระองค์ทรงประกอบด้วยคุณสมบัติที่ควรเป็นครูของบุคคลในทุกระดับชั้น เพราะพระองค์ทรงรอบรู้และทรงสอนคนได้ทุกระดับ ทรงสอนด้วยความเมตตา มิใช่เพื่อลาภสักการะและคำสรรเสริญ แต่ทรงมุ่งความถูกต้องและประโยชน์สุขของผู้ฟังเป็นใหญ่ ทรงสอนให้เหมาะสมกับอัธยาศัยของผู้ฟัง และทรงทำได้ตามที่ทรงสอนนั้นด้วย

8. พุทฺโธ เป็นผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คือ พระองค์ทรงตื่นเองจากความเชื่อถือและข้อปฏิบัติทั้งหลายที่ยึดถือกันมาผิดๆ ด้วย  ทรงรู้จักฐานะ คือ เหตุที่ควรเป็น เปรียบได้กับคนตื่นจากหลับแล้วทรงปลุกผู้อื่นให้พ้นจากความหลงงมงายด้วย อนึ่งพระองค์ทรงตื่นแล้วเป็นอิสระจากอำนาจของโลภ โกรธ หลง แล้ว เมื่อทรงตื่นแล้วก็ทรงแจ่มใสเบิกบาน มีพระทัยบริสุทธิ์สะอาด

9. ภควา เป็นผู้มีโชค ผู้ทรงแจกแบ่งธรรม คือพระองค์ทรงเพียบพร้อมได้ด้วยคุณธรรมทั้งหลาย อันเป็นผลสัมฤทธิ์แห่งพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญมา นับเป็นผู้มีโชคดีกว่าคนทั้งปวง เพราะพระองค์ทรงทำการใดก็ลุล่วงปลอดภัยทุกประการ ส่วน “ภควา” แปลว่า “ทรงแจกแบ่งธรรม” หมายถึง มีพระปัญญาล้ำเลิศ จนสามารถจำแนกธรรมที่ลึกซึ้งให้เป็นที่เข้าใจง่าย และมีพระกรุณาธิคุณจำแนกจ่ายคำสั่งสอนแก่เวไนยสัตว์ให้รู้ตาม

พระพุทธคุณทั้ง 9 ประการนี้ สรุปลงเป็น 3 ประการคือ

- พระวิสุทธิคุณ  คือ  ความบริสุทธิ์ อันได้แก่ พระคุณข้อที่ 1,3 และ 9

- พระปัญญาคุณ คือ ปัญญา อันได้แก่ พระคุณข้อที่ 2,5 และ 8

- พระมหากรุณาธิคุณ คือ พระมหากรุณา อันได้แก่ พระคุณข้อที่ 4,6 และ 7

อุปกิเลส 16

การพิจารณาจิต คือ ตามรู้จิตตลอดกาลตลอดเวลา ทั้งเมื่ออยู่ในอิริยาบถตามปกติและเมื่อตั้งใจปฏิบัติ เมื่อเราตั้งใจพิจารณา ตามดูจิตแล้ว เราจะมองเห็นอาการของจิตต่างๆ ทำให้เข้าใจจริตนิสัยของตัวเองมากขึ้น เมื่อเราเข้าใจตัวเอง ยอมรับตัวเองตามความเป็นจริง ก็จะเป็นพื้นฐานในการปรับปรุงพัฒนาตนเอง คือเมื่อรู้สึกตัวแล้ว ก็จะไม่หลงไปตามอามรณ์จิตเดิมแท้ของเราทุกคนเป็นประภัสสร บริสุทธิ์ผ่องใสโดยธรรมชาติแต่กิเลสเป็นอาคันตุกะที่จรเข้ามาครอบงำจิต ทำให้จิตเศร้าหมอง กิเลสหรืออกุศลมูล อันได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ เมื่อมีเหตุปัจจัยประสมประสานกันแล้วก่อตัวขึ้นมาเป็นอุปนิสัยต่างๆ มี 16 ลักษณะเรียกว่า อุปกิเลส 16 ได้แก่

1. อภิชฌมวิสมโลภะ คือ ความละโมภ อยากได้ อยากมี อยากเป็นอย่างไม่รู้จักพอ เห็นแก่ได้จนลืมตัว

2. พยาบาท คือ ความคิดร้าย มุ่งจะทำร้าย เขา ใครพูดไม่ถูกใจก็คิดตำหนิเขา คิดจะทำร้ายฆ่าเขาก็มี บางครั้งทำร้ายผู้อื่นไม่ได้ ก็หันมาตำหนิตัวเอง ทำร้ายตัวเอง จนฆ่าตัวตายก็มีซึ่งเป็นเพราะอำนาจพยาบาท เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ

3. โกธะ คือ ความโกรธ มีอะไรมากระทบก็โกรธ เป็นลักษณะโกรธง่าย แต่เมื่อหายแล้วก็เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น คือไม่ผูกใจเจ็บ ไม่พยาบาท เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ

4. อุปนาหะ คือ การผูกโกรธ ใครพูดอะไร ทำอะไรให้เกิดความโกรธแล้วจะผูกใจเจ็บ เก็บไว้ ไม่ปล่อย ไม่ลืม เป็นทุกข์อยู่อย่างนั้น กระทบอารมณ์เมื่อไร ก็เอาเรื่องเก่ามาคิดรวมกันคิดทวนเรื่องในอดีตว่าเขาเคยทำไม่ดีกับเราขนาดไหน เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ

5. มักขะ คือ การลบหลู่ คุณท่าน ปิดบังความดีของผู้อื่น ลบหลู่ความดีของผู้อื่น เช่น เขาให้ของแก่เรา แทนที่จะขอบคุณกลับนึกตำหนิเขาว่า เอาของไม่ดีมาให้ หรือเมื่อมีใครพูดถึงความดีของเขา เราทนไม่ได้ เราไม่ชอบ จึงยกเรื่องที่ไม่ดีของเขามาพูด เพื่อปฏิเสธว่าเขาไม่ใช่คนดีถึงขนาดนั้น เป็นต้น

6. ปลาสะ คือ การตีเสมอ ยกตัวเทียมท่าน ไม่ยอมยกให้ใครดีกว่าตน แต่ชอบยกตัวเองดีกว่าเขา มักแสดงให้เขาเห็นว่าเราคิดเก่งกว่า รู้ดีกว่า ถ้าให้เราทำ เราจะทำให้ดีกว่าเขาได้

7. อิสสา คือ ความริษยา เห็นเขาได้ดี ทนไม่ได้ เมื่อเห็นเขาได้ดีมากกว่าเรา เขาได้รับความรักความเอาใจใส่มากกว่าเรา เรารู้สึกน้อยใจ อยากจะได้เหมือนอย่างเขา ความจริงเราอาจจะมีมากกว่าเขาอยู่แล้ว หรือเรากับเขาต่างก็ได้รับเท่ากัน แต่เราก็ยังเกิดความรู้สึกน้อยใจ ทนไม่ได้ก็มี

8. มัจฉริยะ คือ ความตระหนี่ ขี้เหนียว เสียดายของ ยึดในสิ่งของที่เราครอบครองอยู่อย่างเหนียวแน่น อยากแต่จะเก็บเอาไว้ ไม่อยากให้ใคร

9. มายา คือ เจ้าเล่ห์หลอกลวง ไม่จริงใจ พยายามแสดงบทบาทตัวเองเกินความจริง หรือจริงๆ แล้วเรามีน้อยแต่พยายามแสดงออกให้คนอื่นเข้าใจว่ามั่งมี เช่น ด้วยการแต่งตัว กินอยู่อย่างหรูหรา หรือบางกรณี ใจเราคิดตำหนิติเตียนเขา แต่กลับแสดงออกด้วยการพูดชื่นชมอย่างมาก หรือบางทีเราไม่ได้มีความรู้มาก แต่ของคุยแสดงว่ารู้มาก เป็นต้น

10. สาเถยยะ คือ การโอ้อวด หลอกลวงเขา ชอบอวดว่าดีกว่าเขา เก่งกว่าเขา พยายามแสดงให้เขาเห็น เพื่อให้เขาเกิดอิจฉาเรา เมื่อได้โอ้อวดแล้วมีความสุข

11. ถัมภะ คือ ความดื้อ ความกระด้าง ยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง ใครแนะนำอะไรให้ก็ไม่ยอมรับฟัง

12. สารัมภะ คือ การแข่งดี มุ่งแต่จะเองชนะเขาอยู่ตลอด จะพูดจะทำอะไรต้องเหนือกว่าเขาตลอด เช่นเมื่อพูดเถียงกันก็อ้างเหตุผลต่างๆ นานา เพื่อเอาชนะให้ได้ ถึงแม้ความจริงแล้วตัวเองผิด ก็ไม่ยอมแพ้

13. มานะ คือ ความถือตัว ทะนงตน

14. อติมานะ คือ การดูหมิ่นท่าน ความถือตัวว่าเราดียิ่งกว่าเขา ทำให้ดูถูกดูหมิ่นคนอื่น

15. มทะ คือ ความัวเมา หลงว่ายังเป็นหนุ่มเป็นสาว ยังไม่แก่ ยังไม่ตาย หลงในอำนาจ หลงในตำแหน่ง คิดว่าเราจะเป็นอย่างนี้ตลอดไปแล้วทำอะไรเกินเหตุ

16. ปมาทะ คือ ความประมาท เลินเล่อ ไม่คิดให้รอบคอบ อาการที่ขาดสติ ขาดปัญญา

ดูมันเถียงพระ

วันนั้น ไปเทศน์ที่ จ.สิงห์บุรี เทศน์ให้ครูฟัง ครูนั่งกันเต็มห้องประชุม 200-300 คน พวกครูผู้ใหญ่ ผู้อำนวยการก็นั่งโซฟาข้างหน้า มีครูผู้ชายคนหนึ่ง นั่งเก้าอี้ข้างหน้า เหยียดขา ตาแดง โงนไป โงน

มา เมา ชาวบ้านเวลาฟังพระเทศน์เขาพนมมือกันหมด มันไม่พนมมือ แถมเวลาพระเทศน์ มันกระดิกขา เคาะจังหวะอีก ผู้อำนวยการอยู่ข้างหน้าพยายามจ้องหน้ามัน มันหันหนีไม่สบตาทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ อาตมาเทศน์ไปสักพักทนไม่ไหว เลยถามว่า...

โยม...ทำไมไม่ไหว้พระล่ะ
พระเดี๋ยวนี้ประพฤติตัวไม่ค่อยดี...ไหว้แล้วเสียมือ...
(แน๊ะ...มันเมาเหล้ากลิ่นคลุ้ง...จนโงหัวไม่ขึ้น...
ยังเสือกมาสอนพระอีก...)
โยม...ที่พระเทศน์นี่...ท่านเอาธรรมะของพระพุทธเจ้า.มาสอนเรา...ไม่ใช่ความคิดของท่าน...การที่เราไหว้...เวลาพระเทศน์...เป็นการบูชาธรรม...เป็นการแสดงความเคารพพระพุทธเจ้า...
ไม่ไหว้...
โยม...อาตมาขอถามอะไรหน่อยได้ไหม?
ถามอะไร...?
ระหว่างเรายกมือไหว้พระเอง...กับมีคนจับมือให้ไหว้พระ...อันไหนดีกว่ากัน...?
ระหว่างสวดมนต์เอง...กับนอนให้พระสวดให้...อันไหนดีกว่ากัน..?
มันเงียบ...ไม่ตอบ...คงเริ่มสำนึกบาปแล้วล่ะ...
อาตมารีบถามต่อเลย...เดี๋ยวจะช้าไป...
โยม...เคยไปวัดบ้างไหม...?
ไม่ไป...ไม่ชอบวัด...
โยม...ระหว่างเดินไปวัดเอง...กับเขาหามไปวัด...อันไหนดีกว่ากัน...?
มันจ้องตาเขม็งเลย...
แล้วลุกขึ้นยืน....
นี่...หลวงพี่...ผมขอถามอะไรหน่อยได้ไหม...?
ได้...
ระหว่างเดินกลับวัดเอง.กับมีคนหามกลับวัด...อันไหนดีกว่ากัน...?
...???

เรื่องจาก : เทศนา...ฮาสุดขีด ของพระพยอม กัลยาโณ

โทษของการละเมิดศีล 5

มีดังต่อไปนี้

ละเมิดศีลข้อแรกคือ การทำลายชีวิต หากทำลายชีวิตบุพพการีถือว่าเป็นอนันตริยกรรมคือกรรมหนัก กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าประหารชีวิตสถานเดียว การฆ่า การทำลายชีวิตซึ่งเป็นการละเมิดศีล ข้อ 1 ผิดทั้งกฎหมายของบ้านเมือง และผิดศีล ผิดหลักพระพุทธศาสนาด้วย

โทษขอการละเมิดศีลข้อที่ 1 คือการทำลายชีวิตนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ปาณาติบาต (การทำลายชีวิต) ที่บุคคลทำจนคุ้น ทำจนเคยตัวทำอยู่เรื่อยๆ ไป ย่อมเป็นเหตุให้เกิดในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในกำเนิดเปรตวิสัย
วิบากคือเศษกรรม (ผลกรรมที่เหลือ) ของการทำลายชีวิตอย่างเบาที่สุด ย่อมชักให้ผู้ทำซึ่งเป็นมนุษย์ กลายเป็นคนอายุสั้น (พลันตาย)

โทษของการละเมิดศีลข้อที่ 2 คือ อทินนาทาน ได้แก่ลักทรัพย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย อทินนาทาน (การลักทรัพย์) ที่บุคคลทำจนคุ้น ทำจนเคยตัวทำอยู่เรื่อยไป ย่อมเป็นเหตุให้เกิดในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย
วิบากหรือเศษกรรม เศษของโทษ ที่ละเมิดศีลข้อ 2 คือลักทรัพย์ (อทินนาทาน) อย่างเบาที่สุด ย่อมชักให้ผู้ทำ ซึ่งเป็นมนุษย์กลาย เป็นคนมีทรัพย์วินาศย่อยยับ (เช่น ถูกไฟ ไหม้หรือโจรผู้ร้ายปล้น เป็นต้น)

โทษของการละเมิดศีลข้อที่ 3 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า กาเมสุมิจฉาจาร (การทำชู้) ที่บุคคลทำจนคุ้น ฯลฯ ย่อมเป็นเหตุให้เกิดในนรก ฯลฯ
วิบากหรือเศษกรรม ของกาเมสุมิจฉาจาร (การทำชู้) อย่างเบาที่สุด ย่อมชักให้ผู้ทำ ซึ่งเป็นมนุษย์กลายเป็นคนถูกจองเวร

โทษของการละเมิดศีลข้อที่ 4 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า มุสาวาท (พูดปดหลอกลวง) ที่บุคคลทำจนคุ้น ฯลฯ ย่อมเป็นเหตุให้เกิดในนรก ฯลฯ
วิบากหรือเศษกรรม ของการพูดปดหลอกลวง อย่างเบาที่สุด ย่อมชักให้ผู้ทำ ซึ่งเป็นมนุษย์กลายเป็นคนถูกกล่าวตู่ด้วยความเท็จ

โทษขอการละเมิดศีลข้อที่ 5 คือ สุราเมรัย นั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย การดื่มสุราเมรัย ที่บุคคลทำจนคุ้น ฯลฯ ย่อมเป็นเหตุให้เกิดในนรก ฯลฯ
วิบากหรือเศษกรรม ของการดื่มสุราเมรัย (เสพยาเสพย์ติด) อย่างเบาที่สุด ย่อมชักให้ผู้ทำ ซึ่งเป็นมนุษย์ กลายเป็นคนบ้า

สำหรับศีลข้อ 5 การเสพยาเสพย์ติดทุกชนิด เช่น เฮโรอีน ฝิ่น กัญชา ยาม้า ยาบ้าน ยาอี โคเคน เป็นอาที ก็สงเคราะห์เข้าในศีลข้อนี้ ผู้ใดเสพ ก็ถือว่าเป็นการละเมิดศีลข้อ 5 นี้ด้วยเช่นกัน

ปกติมนุษย์ก็เมาอยู่แล้วด้วยกิเลส คือ ราคะ โลภะ โทสะและโมหะ ยิ่งเติมสิ่งเสพย์ติดเข้าไปอีก จึงเมาและบ้ากำลัง 2 (ยิ่งบ้ากันใหญ่) เที่ยวจับคนเป็นตัวประกันบ้าง โดดตึกตายบ้าง ฆ่าเมีย ฆ่าลูก ฆ่าตัวเองฆ่าพ่อฆ่าแม่ของตัวเองตายบ้าง

เมืองไทยคนไทยเดินอยู่ตามถนนเตียนๆ แท้ๆ ยังถูกจับไปเป็นตัวประกันและถูกทำร้ายจนเสียชีวิต เพราะฉะนั้น จงรีบเร่งรักษาศีล 5 กันเถิดครับ เพื่อกำจัดปัญหาทางสังคมที่เกิดจากการที่มนุษย์ไม่รักษาศีล 5 จึงเกิดโทษต่างๆ นานา มากหลายดังที่ปรากฏเป็นประจักษ์พยานให้เห็นอยู่

ผู้ละเมิดศีลข้อ 5 ท่านกล่าวว่าวิบากกรรมที่เหลือย่อมทำให้เป็นบ้าเป็นคนเสียสติ

ใน เวสสัตตรทีปนี ภาค 2 ท่านพรรณนาให้เห็นคนบ้า 8 จำพวก ดังนี้
- บ้าเพราะกาม
- บ้าเพราะโทสะ
- บ้าเพราะทิฎฐิ
- บ้าเพราะหลงใหล
- บ้านเพราะผีสิง (คือโลภ โกรธ หลง)
- บ้าเพราะดีเดือด
- บ้าเพราะเหล้า และ
- บ้าเพราะประสบเหตุร้าย

มีคำอธิบายขยายความดังนี้
- คนบ้ากาม ย่อมทำอะไรตามใจตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภ
- คนบ้าเพราะโทสะ ย่อมมุ่งร้ายตกอยู่ในอำนาจการเบียดเบียน
- คนบ้าเพราะทิฎฐิ จิตย่อมวิปลาส คือมีความเป็นคลาดเคลื่อน
- คนบ้าเพราะหลง ความคิดย่อม เลอะเลือน
- คนบ้าเพราะผีสิง ย่อมตกอยู่ในอำนาจผี (กิเลส)
- คนบ้าเพราะดีกำเริบ ย่อมแล้วแต่ดีจะกำเริบ
- คนบ้าเพราเหล้า ย่อมตกอยู่ในอำนาจการดื่ม
- คนบ้าเพราะประสบเหตุร้ายย่อมตกอยู่ในอำนาจของความเศร้าโศก

อานิสงส์ของการรักษาศีล 5



ข้อที่ 1 ไม่ฆ่าสัตว์ตัวชีวิต (ไม่ทำปาณาติบาต) ย่อมได้รับอานิสงส์ถึง 23 ประการ คือ
- บริบูรณ์ด้วยอวัยวะน้อยใหญ่ คือร่างกายไม่พิกลพิการ
- มีกายสูงและสมส่วน
- สมบูรณ์ด้วยความคล่องแคล่ว
- เป็นผู้มีเท้าประดิษฐานลงด้วยดี
- เป็นผู้สดใสรุ่งเรือง
- เป็นคนสะอาด
- เป็นคนอ่อนโยน
- เป็นคนมีความสุข
- เป็นคนแกล้วกล้า
- เป็นคนมีกำลังมาก
- มีถ้อยคำสละสลวยเพราะพริ้ง
- มีบริษัทบริวารมิได้พลัดพรากจากตน
- เป็นคนไม่สะดุ้งตกใจกลัว
- ข้าศึกศัตรูทำร้ายมิได้
- ไม่ตายด้วยความเพียรของผู้อื่น
- มีบริวารหาที่สุดมิได้
- รูปสวย
- ทรวดทรงสมส่วน
- ป่วยไข้น้อย
- ไม่มีเรื่องเสียใจ
- เป็นที่รักของชาวโลก
- มิได้พลัดพรากจากผู้หรือสิ่งที่รักและชอบใจ
- มีอายุยืน

ข้อที่ 2 คือข้อไม่ลักทรัพย์ (อทินนาทาน) ผู้รักษาย่อมได้รับอานิสงส์ถึง 11 ประการ ดังนี้
- มีทรัพย์มาก
- มีข้าวของและอาหารเพียงพอ
- ได้โภคทรัพย์ไม่สิ้นสุด
- โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ก็ย่อมได้
- โภคทรัพย์ที่ได้ไว้แล้วก็ยั่งยืน
- หาสิ่งที่ปรารถนาได้อย่างรวดเร็ว
- สมบัติไม่กระจัดกระจายด้วย ราชภัย โจรภัย อุทกภัย อัคคีภัย หรือญาติฉ้อโกง
- หาทรัพย์ได้โดยไม่ถูกแบ่ง
- ได้โลกุตตรทรัพย์
- ไม่เคยรู้ ไม่เคยได้ยินคำว่าไม่มี
- อยู่ที่ไหนก็เป็นสุข

ข้อที่ 3 คือ เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ได้แก่ เว้นจากการประพฤติผิดในการ (ไม่ทำชู้กับคู่ครองของผู้อื่น) ได้รับอานิสงส์ผลถึง 20 ประการ (ปรมตฺถโชติกา) ดังนี้
- ไม่มีข้าศึกศัตรู
- เป็นที่รักแห่งชนทั่วไป
- หาข้าวน้ำเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่ อาศัยได้ง่าย
- หลับก็เป็นสุข
- ตื่นก็เป็นสุข
- พ้นภัยในอบาย
- ไม่ต้องเกิดเป็นหญิงหรือเป็นกะเทยอีก
- ไม่โกรธง่าย
- ทำอะไรก็ทำได้ โดยเรียบร้อย
- ทำอะไรก็ทำโดยเปิดเผย
- คอไม่ตก (คือมี สง่า)
- หน้าไม่ก้ม (คือมีอำนาจ)
- มีแต่เพื่อนรัก
- มีอินทรีย์ 5 บริบูรณ์
- มีลักษณะบริบูรณ์
- ไม่มีใครรังเกียจ
- ขวนขวายน้อยไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย หากินง่าย
- อยู่ที่ไหนก็เป็นสุข
- ไม่ต้องกลัวภัยจากใครๆ
- ไม่ค่อยพลัดพรากจากของที่รัก

ข้อที่ 4 คือเว้นจาการพูดปด พูดหลอกลวงปลิ้นปล้อน ย่อมได้รับอานิสงส์ 14 ประการ (ปรมตฺถโชติกา) ดังนี้
- มีอินทรีย์ 5 ผ่องใส
- มีวาจาไพเราะสละสลวย
- มีไรฟันอันเสมอชิตบริสุทธิ์
- ไม่อ้วนเกินไป
- ไม่ผอมเกินไป
- ไม่ต่ำเกินไป
- ไม่สูงเกินไป
- ได้แต่สัมผัสอันเป็นสุข
- ปากหอมเหมือนดอกบัว
- มีบริวารล้วนแต่ขยันขันแข็ง
- มีถ้อยคำที่บุคคลเชื่อได้
- ลิ้นบางแดงอ่อนเหมือนกลีบดอกบัว
- ใจไม่ฟุ้งซ่าน
- ไม่เป็นอ่าง ไม่เป็นใบ้

ข้อที่ 5 คือเว้นจากการเสพสุราเมรัย สารเสพย์ติดทุกชนิด ย่อมได้รับอานิสงส์ 35 ประการ (ปรมตฺถโชติการ) ดังนี้
- รู้กิจการอดีต อนาคต ปัจจุบันได้รวดเร็ว
- มีสติตั้งมั่งทุกเมื่อ
- ไม่เป็นบ้า
- มีความรู้มาก
- ไม่หวั่นไหว (ผู้ใดชวนในทางผิดไม่ร่วมมือด้วย)
- ไม่งุนงง ไม่เซอะ
- ไม่ใบ้
- ไม่มัวเมา
- ไม่ประมาท
- ไม่หลงใหล
- ไม่หวาดสะดุ้งกลัว
- ไม่มีความรำคาญ
- ไม่มีใครริษยา
- มีความขวนขวายน้อย
- มีแต่ความสุข
- มีแต่คนนับถือยำเกรง
- พูดแต่คำสัตย์
- ไม่ส่อเสียดใคร ไม่มีใครส่อเสียด
- ไม่พูดหยาบกับใคร ไม่มีใครพูดหยาบด้วย
- ไม่พูดเล่นโปรยประโยชน์
- ไม่เกียจคร้านทุกคืนวัน
- มีความกตัญญู
- มีกตเวที
- ไม่ตระหนี่
- รู้เฉลี่ยเจือจาน
- มีศีลบริสุทธิ์
- ซื่อตรง
- ไม่โกรธใคร
- มีใจละอายแก่บาป
- รู้จักกลัวบาป
- มีความเห็นถูกทาง
- มีปัญญามาก
- มีธัมโมชปัญญา (มีปัญญารสอันเกิดแต่ธรรม)
- เป็นปราชญ์ มีญาณคติ (เป็นคลังแห่งปัญญา)
- ฉลาดรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์และรู้ในสิ่งอันเป็นโทษ

อานิสงส์การบวชพระบวชชีพรามณ์


( บวชชั่วคราวเพื่อสร้างบุญ,อุทิศให้พ่อแม่เจ้ากรรมนายเวร )

- หน้าที่การงานจะเจริญรุ่งเรือง ได้ลาภ ยศ สรรเสริญตามปรารถนา

- เจ้ากรรมนายเวรจะอโหสิกรรม หนี้กรรมในอดีตจะคลี่คลาย

- สุขภาพแข็งแรง สติปัญญาแจ่มใส ปัญหาชีวิตคลี่คลาย

- เป็นปัจจัยสู่พระนิพพานในภพต่อๆ ไป

- สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง โพยภัยอันตรายผ่อนหนักเป็นเบา

- จิตใจสงบ ปล่อยวางได้ง่าย มองเห็นสัจธรรมแห่งชีวิต

- เป็นที่รักที่เมตตามหานิยมของมวลมนุษย์มวลสัตว์และเหล่าเทวดา

- ทำมาค้าขึ้น ไม่อับจน การเงินไม่ขาดสายไม่ขาดมือ

- โรคภัยของตนเอง ของพ่อแม่ และของคนใกล้ชิดจะเบาบางและรักษาหาย

- ตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ได้เต็มที่สำหรับผู้ที่บวชไม่ได้เพราะติดภาระกิจต่างๆ ก็สามารถได้รับอานิสงส์เหล่านี้ได้ด้วยการสร้างคนให้ได้บวช สนับสนุนส่งเสริมอาสาการให้คนได้บวช

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างบุญที่ยกขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงอานิสงส์ที่ท่านพึงจะได้รับจงเร่งทำบุญเสียแต่วันนี้ เพราะเมื่อท่านล่วงลับท่านไม่สามารถสร้างบุญได้อีกจนกว่าจะได้เกิด หากท่านไม่มีบุญมาหนุนนำ แรงกรรมอาจดึงให้ท่านไปสู่ภพเดรัจฉาน ภพเปรต ภพสัตว์นรกที่ไม่อาจสร้างบุญสร้างกุศลได้ ต่อให้ญาติโยมทำบุญอุทิศให้ก็อาจไม่ได้รับบุญ ดังนั้นท่านจงพึ่งตนเองด้วยการสร้างสมบุญบารมีซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ท่านจะนำติดตัวไปได้ทุกภพทุกชาติเสียแต่วันนี้

อานิสงส์การจัดสร้างพระพุทธรูป


อานิสงส์การจัดสร้างพระพุทธรูปหรือสิ่งพิมพ์อันเกี่ยวกับพระธรรมคำสอนเป็นกุศลดังนี้

- อกุศลกรรมในอดีตชาติแต่ปางก่อน จะเปลี่ยนจากหนักเป็นเบา จากเบาเป็นสูญ

- สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง สรรพภยันตรายสลาย ปวงภัยไม่มีคนคิดร้ายไม่สำเร็จ

- เจ้ากรรมนายเวรในอดีตชาติแต่ปางก่อน เมื่อได้รับส่วนบุญไปแล้วก็จะเลิกจองเวรจองกรรม

- เหล่ายักษ์ผีรากษส งูพิษเสือร้าย ไม่อาจเป็นภัยอยู่ในที่ใดก็แคล้วคลาดจากภัย

- จิตใจสงบ ราศีผ่องใส สุขภาพแข็งแรง กิจการงานเป็นมงคล รุ่งเรืองก้าวหน้าผู้คนนับถือ

- มั่นคงในคุณธรรม ความอุดมสมบูรณ์ปรากฏ (เกินความคาดฝัน) ครอบครัวสุขสันต์ วาสนายั่งยืน

- คำกล่าวเป็นสัจจะ ฟ้าดินปราณี ทวยเทพยินดี มิตรสหายปรีดา หนี้สินจะหมดไป

- คนโง่สิ้นเขลา คนเจ็บหายได้ คนป่วยหายดี ความทุกข์หายเข็ญ สตรีจะได้เกิดเป็นชายเพื่อบวช

- พ้นจากมวลอกุศล เกิดใหม่บุญเกื้อหนุน มีปัญญาล้ำเลิศ บุญกุศลเรืองรอง

- สิ่งที่สร้างจะบังเกิดเป็นกุศลจิตแก่ทุกคนที่ได้พบเห็นเป็นเนื้อนาบุญอย่างเอนกทุกชาติของ ผู้สร้างที่เกิดจะได้ฟังธรรมจากพระอริยเจ้าปัญญาในธรรมแก่กล้าสามารถได้อภิญญาหก สำเร็จโพธิญาณ

อานิสงส์ของการไม่กินเนื้อสัตว์


- เป็นที่รักของบรรดาเทพ พรหม ตลอดจนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย

- จิตอันเป็นมหาเมตตาย่อมบังเกิดขึ้น

- สามารถตัดขาดความอาฆาต ดับอารมณ์เหี้ยมโหดเครียดแค้นในใจลงได้

- ปราศจากโรคภัยร้ายแรงมาเบียดเบียนร่างกาย

- มีอายุมั่นขวัญยืน

- ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากเทพทั้งปวง

- ยามหลับนิมิตเห็นแต่สิ่งที่ดีงามเป็นสิริมงคล

- ย่อมระงับการจองเวร สลายความอาฆาตแค้นซึ่งกันและกัน

- สามารถดำรงอยู่ในกระแสพระนิพพาน ไม่พลัดหลงตกลงสูอบายภูมิ

- ทันทีที่ละสังขารจากโลกนี้ จิตจะมุ่งสู่สุคติภพ

การสร้างบุญบารมี


1. นั่งสมาธิอย่างน้อยวันละ 15 นาที (หรือเดินจงกรม)
อานิสงส์
- มีสติปัญญาที่เฉลียวฉลาดขึ้นทั้งชาตินี้และชาติหน้า
- เพื่อจิตใจปราศจากกิเลส ปล่อยวางได้ง่าย
- จิตจะรู้วิธีแก้ปัญหาชีวิตโดยอัตโนมัติ
- ชีวิตจะเจริญรุ่งเรืองไม่มีวันอับจน
- ผิวพรรณผ่องใส สุขภาพกายและจิตใจแข็งแรง
- เจ้ากรรมนายเวรและญาติมิตรที่ล่วงลับจะได้บุญกุศล

2. สวดมนต์ด้วยพระคาถาต่างๆ อย่างน้อยวันละครั้งก่อนนอน
อานิสงส์
- เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง
- ชีวิตหน้าที่การงานเจริญก้าวหน้า
- เงินทองไหลมาเทมา แคล้วคลาดจากอุปสรรคทั้งปวง จิตจะเป็นสมาธิได้เร็ว
- แนะนำพระคาถาพาหุงมหากา พระคาถาชินบัญชร พระคาถายอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก เป็นต้น เมื่อสวดเสร็จต้องแผ่เมตตาทุกครั้ง

3. ถวายยารักษาโรคให้วัด ออกเงินค่ารักษาให้พระตามโรงพยาบาลสงฆ์
อานิสงส์
- สุขภาพร่มเย็นทั้งครอบครัว โรคที่ไม่หายจะทุเลา
- สุขภาพกายจิตใจแข็งแรง อายุยืนทั้งชาตินี้และชาติหน้า
- ถ้าป่วยก็จะไม่ขาดแคลนการรักษา

4. ทำบุญตักบาตรทุกเช้า
อานิสงส์
- ได้ช่วยเหลือศาสนาต่อไปทั้งชาตินี้และชาติหน้า ไม่ขาดแคลนอาหาร
- ตายไปไม่หิวโหย อยู่ในภพที่ไม่ขาดแคลน ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์

5. ทำหนังสือหรือสื่อต่างๆ เกี่ยวกับธรรมะแจกฟรีแก่ผู้คนเป็นธรรมทาน
อานิสงส์
- สว่างไปด้วยลาถยศ สรรเสริญ ปัญญา และบุญบารมีอย่างท่วมท้น เจ้ากรรมนายเวรอโหสิกรรมให้
- ชีวิตจะเจริญรุ่งเรืองอย่างไม่คาดฝัน

6. สร้างพระถวายวัด
อานิสงส์
- ผ่อนปรนหนี้กรรมให้บางเบา ให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง
- สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง แคล้วคลาดจากอุปสรรคทั้งปวง ครอบครัวเป็นสุข
- ได้เกิดมาอยู่ในร่มโพธิ์ของพุทธศาสนาตลอดไป

7. แบ่งเวลาชีวิตไปบวชชีพรามณ์หรือบวชพระอย่างน้อย 9 วันขึ้นไป
อานิสงส์
- ได้ตอบแทนคุณพ่อแม่อย่างเต็มที่
- ผ่อนปรนหนี้กรรมอุทิศผลบุญให้ญาติมิตรและเจ้ากรรมนายเวร
- สร้างปัจจัยไปสู่นิพพานในภพต่อๆ ไป ได้เกิดมาอยู่ในร่มโพธิ์ของพุทธศาสนา
- จิตเป็นกุศล

8. บริจาคเลือดหรือร่างกาย
อานิสงส์
- ผิวพรรณผ่องใส สุขภาพแข็งแรง ช่วยต่ออายุ
- ต่อไปจะมีผู้คอยช่วยเหลือไม่ให้ตกทุกข์ได้ยาก เทพยดาปกปักรักษา
- ได้เกิดมามีร่างกายที่งดงามในภพหน้า ส่วนภพนี้ก็จะมีราศีผุดผ่อง

9. ปล่อยปลาที่ซื้อมาจากตลาดรวมทั้งปล่อยสัตว์ไถ่ชีวิตสัตว์ต่างๆ
อานิสงส์
- ช่วยต่ออายุ ขจัดอุปสรรคในชีวิต
- ชดใช้หนี้กรรมให้เจ้ากรรมนายเวรที่เคยกินเข้าไป ให้ทำมาค้าขึ้น
- หน้าที่การงานคล่องตัวไม่ติดขัด ชีวิตที่ผิดหวังจะค่อยๆ ฟื้นคืนสภาพที่สดใสเป็นอิสระ

10. ให้ทุนการศึกษา บริจาคหนังสือหรือสื่อการเรียนต่างๆ อาสาสอนหนังสือ
อานิสงส์
- ทำให้มีสติปัญญาดี ในชาติต่อไปจะฉลาดเฉลียวมีปัญญา
- ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนอย่างรอบรู้ สติปัญญาสมบูรณ์พร้อม

11. ให้เงินขอทาน ให้เงินคนที่เดือดร้อน (ไม่ใช่การให้ยืม)
อานิสงส์
- ทำให้เกิดลาภไม่ขาดสายทั้งชาตินี้และชาติหน้า ไม่ตกทุกข์ได้ยาก
- เกิดชาติหน้าจะร่ำรวยและไม่มีหนี้สิน ความยากจนในชาตินี้จะทุเลาลง
- จะได้เงินทองกลับมาอย่างไม่คาดฝัน

12. รักษาศีล 5 หรือศีล 8
อานิสงส์
- ไม่ต้องไปเกิดเป็นเปรตหรือสัตว์นรก
- ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐครบบริบูรณ์ ชีวิตเจริญรุ่งเรือง
- กรรมเวรจะไม่ถ่าโถม ภัยอันตรายไม่ย่างกราย เทวดานางฟ้าปกปักรักษา