วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ธรรมคุณ 6

คุณของพระธรรมคุณมี 6 ประการ ดังที่นักปราชญ์ได้ร้อยกรองเป็นบทสวดสำหรับน้อมนำระลึกไว้ในใจ ดังนี้

1. สวากขาโต ภควตา ธัมโม หมายถึง ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้วท่ามกลาง อันได้แก่ สมาธิและงามในที่สุด อันได้แก่ ปัญญา พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์หรือหลักการครองชีวิตอันประเสริฐ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

2. สันทิฏฐิโก หมายถึง ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ผู้ใดปฏิบัติ ผู้ใดบรรลุ ผู้นั้นย่อมเห็นประจักษ์ด้วยตนเอง ไม่ต้องเชื่อตามคำบอกเล่าของผู้อื่น ผู้ใดไม่ปฏิบัติ ไม่บรรลุ ผู้อื่นจะบอกก็เห็นไม่ได้

3. อกาลิโก หมายถึง ไม่ประกอบด้วยการ ผู้ปฏิบัติไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา พร้อมเมื่อใดบรรลุได้ทันที บรรลุเมื่อใดเห็นผลได้ทันที นั่นคือ ให้ผลในลำดับแห่งบรรลุไม่เหมือนผลไม้อันให้ผลตามฤดูกาล

4. เอหิปัสสิโก หมายถึง ควรเรียกให้มาดู พระธรรมเป็นคุณอัศจรรย์ดุจของประหลาดที่ควรเชิญชวนให้มาชมและพิสูจน์หรือท้าทายต่อการตรวจสอบ เพราะเป็นของจริงและดีจริง

5. โอปนยิโก หมายถึง ควรน้อมเข้ามา ผู้ปฏิบัติควรน้อมเข้ามาไว้ในใจของตนหรือน้อมใจเข้าไปให้ถึงด้วยการปฏิบัติให้เกิดขึ้นในใจ

6. ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ หมายถึง อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ผลอันเกิดจากการปฏิบัติธรรมนั้น ทุกคนที่น้อมนำมาปฏิบัติ จะรู้ซึ้งถึงผลแห่งพระธรรมนั้นด้วยตนเอง ทำให้กันไม่ได้ เอาจากกันไม่ได้ และรู้ได้ประจักษ์ในใจของตนเอง

คุณของพระธรรมข้อที่ 1 มีความหมายกว้าง รวมทั้งปริยัติธรรม คือ คำสั่งสอนด้วย ส่วนคุณของพระธรรมข้อที่ 2 ถึงข้อที่ 6 มุ่งให้เป็นคุณของโลกุตตรธรรม

ดังนั้น เมื่อทราบความหมายของธรรมคุณ 6 ทั้งหมดแล้ว การสวดมนต์เพื่อสรรเสริญพระธรรมคุณในครั้งต่อๆ ไป คงจะทรงความหมายอย่างเปี่ยมล้น

อนึ่ง การน้อมนำคุณของพระธรรม เพื่อเจริญธัมมานุสตินั้น มีอานิสงส์มาก ดังที่ ปัญญา ใช้บางยาง ได้บอกไว้ในหนังสือธรรมาธิบาย เล่ม 1 ว่า

- ย่อมเป็นผู้มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา

- ตระหนักและอ่อนน้อมในพระธรรม

- ย่อมได้ความไพบูลย์แห่งคุณ มีศรัทธา เป็นต้น

- เป็นผู้มากด้วยปีติปราโมทย์

- ทนต่อความกลัว ความตกใจ อดกลั้นต่อทุกข์

- รู้สึกว่าได้อยู่กับพระธรรม

- เป็นบาทฐานให้บรรลุธรรมอันยิ่ง

- เมื่อประสบกับวัตถุที่จะพึงล่วงละเมิด หิริโอตตัปปะ ย่อมปรากฏแก่เธอ

- เมื่อยังไม่บรรลุคุณอันยิ่ง เธอย่อมมีสุคติต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น