วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

พุทธเจดีย์

โดย  มหานาลันทา

เมื่อพูดถึง พุทธเจดีย์ หลายท่านคงนึกถึงสิ่งก่อสร้างที่ก่ออิฐถือปูน มีรูปร่างดังลอมฟ่าง มีสัณฐานทรงกลมยอดแหลม ภายในบรรจุสิ่งที่นับถือ มีพระบรมธาตุเป็นต้น แต่ความจริงแล้ว ที่เรียกว่า “พุทธเจดีย์” นั้นไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีรูปพรรณสัณฐานดังกล่าวแล้ว แม้เป็นสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ หรือเป็นพระพุทธรูป ก็จัดเป็นพุทธเจดีย์ทั้งสิ้น

ดังนั้น จึงสามารถจัดพุทธเจดีย์ออกเป็น 4 อย่างคือ

1. พระธาตุเจดีย์ คือพระบรมธาตุ หรือพระบรมสารีริกธาตุ ที่โทณพราหมณ์ แจกแก่กษัตริย์เมืองต่างๆ  8 นคร มีพระเจ้าอชาตศัตรูแห่งมคธ เป็นต้น ได้นำไปบรรจุไว้ในสถูป เพื่อสักการบูชา จัดเป็นพระธาตุเจดีย์

2. บริโภคเจดีย์ ได้แก่ สังเวชนียสถาน 4 แห่ง คือ สถานที่ประสติ สถานที่ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา และสุดท้ายสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน สังเวชนียสถาน 4 แห่งนี้ จัดเป็นบริโภคเจดีย์ตามพระพุทธานุญาตและเมื่อนับรวมพระสรีรังคารคือเถ้าถ่านที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระที่โมริยกษัตริย์ แห่งเมืองปิปผลิวัน องค์หนึ่งและตุมพะทะนาน ที่โทณพราหมณ์ใช้ตวงพระบรมธาตุแจกเจ้านครทั้ง 4 มีพระเจ้าอชาตศัตรู แห่งมคธรัฐ เป็นต้น ซึ่งโทณพราหมณ์ได้รับไป โดยนำไปสร้างพระสถูปบรรจุไว้ ณ เมืองกุสินาราองค์หนึ่ง พระสถูปทั้ง 2 องค์นี้ก็นับเป็นบริโภคเจดีย์ เพราะเนื่องด้วยพระพุทธองค์เมื่อรวมกับสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง จึงเป็นบริโภคเจดีย์ในชั้นแรก 6 แห่งด้วยกัน ต่อมาชนะชั้นหลังได้นับเอาบาตร จีวร และบริวาร มีธมกรก เป็นต้นก็ดี เสนาสนะ เตียวตั่ง และกุฏีวิหาร ที่พระพุทธองค์ทรงบริโภคก็ดี เป็นบริโภคเจดีย์ทั้งสิ้น

3. พระธรรมเจดีย์ คือพระเจดีย์ที่บรรจุพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ กล่าวคือวิญญูชนทั้งหลายมีศรัทธาตั้งมั่นในพระพุทธศาสนา ใคร่จะบูชาบริโภคเจดีย์ และพระบรมธาตุเจดีย์ แต่พระเจดีย์ดังกล่าวอยู่ไงไกลจนไม่สามารถจะไปบูชาได้ จึงได้สร้างเจดีย์ขึ้น แต่ไม่อาจจะหาพระบรมธาตุมาบรรจุได้ หรือไม่มีพระบรมธาตุจะบรรจุ จึงถือเอาพุทธวจนะคือพระธรรม จดจารจารึกลงบนแผ่นทอง เงินและศิลา แล้วบรรจุไว้ในพระเจดีย์ พระธรรมที่มักใช้จารจารึกได้แก่ หัวใจของพระพุทธศาสนาที่ว่า “เย ธมฺม เหตุปฺปภวา เตสํ ตถาคโต (อาห) เตลัญฺจโย  นิโรโธจ เอวํ วาที มหาสมโณ” แม้เมื่อมีการจดจารึกพระธรรมวินัยลงเป็นตัวอักษรแล้ว ก็นับถือคัมภีร์พระไตรปิฎกว่า เป็นพระธรรมเจดีย์ด้วย

4. อุเทสิกเจดีย์ เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นด้วยเจตนาอุทิศต่อพระพุทธเจ้า เช่น พระพุทธปฏิมากร หรือพระพุทธรูปปางต่างๆ รวมถึงพระพุทธบาท เป็นต้น เพื่อยังความปิติศรัทธาเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น ให้เกิดกุศลจิต จึงน้อมนำเอาเงินทอง ศิลา โลหะ และไม้แก่น เป็นต้น  มาสร้างเป็นพระพุทธรูป เป็นต้น เรียกว่า อุเทสิกเจดีย์

ในบรรดาพุทธเจดีย์ทั้ง 4 นี้ พระธาตุเจดีย์  หรือพระบรมสารีริกธาตุ นับว่าหาได้ยากยิ่ง แต่ก็มักมีผู้อวดอ้างว่ามีอยู่มากมาย จึงขอนำมาเอาพระนิพนธ์ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) ในพุทธประวัติ เล่ม 3 มาลงไว้ให้ พิจาราณากัน ความว่า

"อนึ่ง ผู้ที่นำสิ่งของนั้นๆ มีกรวดบ้าง ศิลาบ้าง มาแสดงว่าพระธาตุดั่งนี้ก็มีมากในสถานบ้านเมืองนั้นๆ จนประชุมชนไม่ทราบว่าพระธาตุแท้นั้นอย่างไรพระสถูปที่สร้างๆ ขึ้นไว้ ก็มีมากหนาไป ผู้เห็นก็จืดจิต ไม่เลื่อมใส"

จากหนังสือ  ธรรมลีลา  ปีที่ 4  ฉบับที่ 38  พิมพ์  สุวิภา  กลิ่นสุวรรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น